วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2551

ระบบป้องกัน...อบรมเด็กแบบนักบุญยอห์น บอสโก

ระบบป้องกัน(PREVENTIVE SYSTEM) :ดอนบอสโก
ใช้เหตุผล.....พัฒนาสติปัญญา
ใช้ศาสนา.....พัฒนาจิตใจ
ใช้ความรักเมตตา.....พัฒนาสุนทรียภาพด้านอารมณ์ให้เป็นคนที่สมบูรณ์
(ที่มา:คณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ พฤศจิกายน 2549)

ระบบการอบรมเด็กของดอนบอสโก

ระบบการอบรมเด็กมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน แต่ระบบที่คุณพ่อบอสโกได้เลือกมาใช้นั้นเป็นระบบสุภาษิตที่ว่า "กันไว้ดีกว่าแก้"

กล่าวคือป้องกันไม่ให้เด็กมีโอกาสทำผิด เพื่อที่จะได้ไม่ต้องลงโทษเมื่อเด็กได้กระทำผิด และอบรมให้เด็กทำหน้าที่ต่างๆโดยสมัครใจเอง

ทฤษฎีที่สอนว่า เราควรปล่อยให้เด็กได้มีโอกาสอยู่ในความไม่ดีเพื่อเขาจะได้ฝึกหัดตัว ในการต่อสู้กับความชั่วทั้งหลายนั้น

เป็นทฤษฎีที่ใช้ไม่ได้ในการอบรมเด็กและเยาวชน เพราะความชั่วช้าต่างๆ ฝังรากลึกอยู่ในใจของเด็กอยู่แล้ว ทั้งกำลังใจของเขายังอ่อนแอ ไม่ช้าก็เร็วเด็กจะต้องยอมแพ้แก่การยั่วยวนของความชั่วเป็นแน่แท้

พ่อแม่จำนวนมากที่ปล่อยบุตรของตนให้เป็นอิสระเกินควร เช่น ปล่อยเขาให้คบเพื่อนำไม่เลือกหน้า ไปเที่ยวกลางคืน ไปดูภาพยนต์หรือการแสดงที่ไม่ดี อ่านหนังสือประเภทลามก อนาจาร ฯลฯ ในที่สุดตัวพ่อแม่ของเด็กเองที่จะได้รับความทุกข์จากบุตรเป็นสิ่งตอบแทน

คุณพ่อบอสโกได้ปรับปรุงสถานที่อยู่ของเด็ก ให้เป็นเสมือนหนึ่งครอบครัว พวกเด็กๆต่างได้รับการดูแลเอาใจใส่ ความอบอุ่นและความรักจากคุณพ่อบอสโก เหมือนดังว่าเขาได้อยู่กับบิดามารดาของเขาเอง ผู้ใหญ่ทุกคนใกล้ชิดอยู่กับพวกเด็กๆ และดำเนินชีวิตอยู่กับพวกเขาตลอดเวลา โดยผู้ใหญ่ต่างก็สนใจในสิ่งที่เด็กชอบเพื่อเอาใจพวกเขา และโน้มน้าวให้ทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการให้เขาทำ

อธิการของโรงเรียนทำตนเป็นบิดามากกว่าที่จะทำตนเป็นอธิการ ส่วนผู้ใหญ่รองลงมาก็เป็นเสมือนพี่ๆของเด็ก ส่วนนักเรียนก็เปรียบเสมือนน้องๆ ความรักและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งเชื่อมประสานให้คนในครอบครัวมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดเป็นฉันใด ความไว้เนื้อเชื่อใจชนิดเดียวนี้เอง ก็เกี่ยวโยงผู้ใหญ่กับเด็กให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันฉันนั้น

ระบบการอบรมเด็กของคุณพ่อบอสโก ยึดหลักความรัก ศาสนาและเหตุผล เป็นที่ตั้งความรักต่อเด็กต้องเป็นเอกลักษณ์ของคณะนักบวชซาเลเซียนผู้อบรมเด็กต้องจำไว้เสมอว่า ตนเป็นผู้แทนบิดามารดาของเขา ดังนั้นจะต้องรักเด็กให้เหมือนที่บิดามารดารักเขา


ในการลงโทษเด็กเมื่อเขาทำผิด คุณพ่อบอสโกให้ผู้ใหญ่ถือหลักดังต่อไปนี้

ให้ลงโทษด้วยความยุติธรรม อย่าลงโทษหนักเพราะความผิดอันเล็กน้อย

การลงโทษอย่าให้เป็นการแก้แค้น และอย่าลงโทษเมื่อตัวเองกำลังสับสนวุ่นวาย หรือเมื่อเด็กกำลังโมโห

การงดแสดงความรัก ก็จะเป็นโทษพอที่จะทำให้เด็กรู้สึกตัวและมีมานะขึ้น ทั้งไม่ทำให้เด็กรู้สึกน้อยใจด้วย

สำหรับเด็กๆอะไรที่ใช้ให้เป็นโทษก็นับว่าเป็นโทษ เคยปรากฏว่า การมองอันไม่อ่อนโยนต่อเด็กบางคนได้ผลมากกว่าการตบตี การชมเชยเมื่อเขาได้ทำความดีและการติเตียนเมื่อเขาทำความผิด ก็เป็นรางวัลและเป็นการลงโทษเพียงพออยู่แล้ว

การเฆี่ยนตีไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ การให้คุกเข่าในท่าลำบาก การดึงหู และการลงโทษอื่นๆ ทั้งหมดนี้จะต้องงดเว้นอย่างเด็ดขาด เพราะว่ามันจะทำให้เด็กเจ็บใจมาก ทั้งเป็นที่อัปยศอดสูแก่ตัวผู้อบรมด้วย

หากว่าผู้ใหญ่ปฏิบัติตามระบบนี้แล้ว เชื่อได้ว่าเขาจะได้รับผลอันดีงามโดยไม่ต้องใช้ไม้เรียว หรือการลงโทษรุนแรงกับเด็กเลย โดยท่านอาศัยความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้าท่านก็ได้ผลดีเสมอมา

ไม่มีความคิดเห็น: