วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทำไม..ลูกถึงพูดช้า


           ครูเอคิดว่าอาจมีคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากที่มีความวิตกกังวลใจ ว่าทำไมลูกจึงไม่ยอมพูดนะ  
             แล้วลูกจะผิดปกติหรือไม่  แล้วจะทำอย่างไรดี ? 

     การที่ลูกพูดช้านั้น ครูเอขอแนะนำว่าก่อนอื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องหาสาเหตุที่ลูกไม่ยอมพูดก่อน เช่น  ระบบการได้ยินของลูกปกติหรือไม่     หรือเป็นความบกพร่องเกี่ยวกับพัฒนาการด้านภาษาและการพูดของลูกรัก คือพัฒนาการด้านภาษาและการพูดไม่เป็นไปตามอายุ 
    
    ลูกรักไม่ค่อยเข้าใจคำพูดของผู้อื่น ทำให้ตอบสนองคำพูดของผู้อื่นไม่ถูก เริ่มพูดคำที่มีความหมายได้ล่าช้ากว่าเด็กอื่นๆ ซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน สื่อสารกับผู้อื่นด้วยคำพูดไม่ได้ หรือถ้าพูดได้ก็ไม่สามารถเล่าเรื่องต่อเนื่องกัน เด็กที่พูดล่าช้าจะรู้จักคำศัพท์ในวงจำกัดและเรียบเรียงถ้อยความได้ไม่ดี
       
      ทีมวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่อาจจะเปรียบเทียบพัฒนาการทางภาษาและการพูดของลูกรักกับเด็กปกติซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน โดยใช้เกณฑ์ดังนี้(คลินิกเด็ก.คอม)  

       1.อายุเมื่อเริ่มพูด เด็กปกติเริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมายได้เมื่ออายุระหว่าง 8 เดือน ถึง 18 เดือน เด็กที่เริ่มพูดช้ากว่าช่วงนี้อาจจะมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดช้า เด็กที่พูดล่าช้าซึ่งถือว่าผิดปกติคือเด็กที่อายุ 2 ปีแล้วยังพูดเป็นคำที่มีความหมายไม่ได้

       2.จำนวนคำศัพท์ที่เด็กรู้จัก เด็กปกติเข้าใจและพูดคำศัพท์ได้ไม่ถึง 10 คำเมื่ออายุ 1 ปี และเมื่ออายุ 2 ปีเด็กรู้จักคำศัพท์มากกว่า 100 คำ และเมื่ออายุ 4 ปีจะรู้คำศัพท์มากกว่า 1,000 คำ ดังนั้นจำนวนคำศัพท์ที่เด็กเข้าใจและพูดได้จึงเป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าเด็กพูดล่าช้าหรือไม่

     3.ประเภทของคำศัพท์ที่เด็กรู้จัก เด็กปกติเข้าใจและรู้คำศัพท์ได้หลายประเภท ได้แก่ คำนามบอกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ อวัยวะของร่างกาย ชื่อพืชผักผลไม้และอาหาร ชื่อสี คำที่บอกความรู้สึกสัมผัส สถานที่ เวลา ขนาด จำนวน ทิศทาง ระยะทาง กิริยาอาการ คำวิเศษณ์ คำบุพบท และคำสันธาน 

      เด็กปกติทั่วไปเรียนรู้คำนามได้ก่อนคำประเภทอื่น 
 คำนามที่เด็กเรียนรู้ในช่วงขวบปีแรกของชีวิต มีอัตราสูงกว่าคำประเภทอื่นๆ เป็นอัตราส่วนที่สูงขึ้น 
     ดังนั้นถ้าเด็กคนใดเข้าใจและพูดคำศัพท์ได้เฉพาะบางประเภท เช่น รู้จักแต่คำนามที่เกี่ยวกับสัตว์มากมายหลายชนิด ส่วนคำประเภทอื่นไม่รู้จัก แสดงว่าเด็กมีการพัฒนาคำศัพท์อยู่ในวงจำกัด 
     บ่งชี้ว่าเด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า ในการพิจารณาว่าเด็กคนใดพูดล่าช้าอย่างผิดปกติต้องพิจารณาถึงเกณฑ์ทั้ง 3 ประการนี้ร่วมกันด้วย 
 
    
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กพูดล่าช้านั้นอาจมาจากประสาทหูพิการมาแต่กำเนิด สมองพิการมาแต่กำเนิด ปัญญาอ่อน มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ ขาดการกระตุ้นทางภาษาและการพูดที่เหมาะสม หรือเด็กที่บกพร่องทางการได้ยินหรือสูญเสียก่อนมีภาษาพูด    

       
แนวทางการแก้ไข สิ่งแรกที่ควรทำต้องพาเด็กไปพบแพทย์และนักแก้ไขการพูด เพื่อการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการพูดล่าช้า การทราบสาเหตุทำให้สามารถให้ความช่วยเหลือและแก้ไขได้อย่างเหมาะสม 

      ในกรณีที่เด็กพูดล่าช้าจากประสาทหูพิการ บางรายอาจใช้เครื่องช่วยฟัง ส่วนเด็กที่พูดช้าทางสาเหตุอื่นควรได้รับการช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ ด้วยการกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ จากนักจิตวิทยาพัฒนาทางภาษาและการพูดจากนักแก้ไขการพูด 
      ในกรณีที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาบางชนิด เช่น เด็กสมองพิการ เด็กปัญญาอ่อน เด็กออทิสติก ก็ควรได้รับคำแนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทาง และควรจะแนะนำพ่อแม่และผู้ปกครองให้ช่วยเหลือเด็กเมื่ออยู่บ้านด้วย

       
การแก้ไขด้านการพูดนั้นเน้นเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด โดยเริ่มทำการช่วยเหลือโดยเร็ว ใช้หลักการเรียนรู้ และพัฒนาการทางการพูดของเด็กปกติเป็นแนวทาง พ่อแม่และผู้ใกล้ชิดกับเด็กต้องแสดงให้เด็กเห็นความสำคัญของการพูด เร้าให้เด็กสนใจคำพูด 

      ใช้กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการพูด ได้แก่การกระตุ้นด้วยเครื่องเล่นที่มีเสียง การพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้เรียกชื่อสิ่งของที่คุ้นเคย ชื่ออวัยวะของร่างกาย ร้องเพลงกล่อมเด็ก ทำท่าประกอบเพลง เล่านิทานจากภาพ สอนร้องเพลงหรือท่องกลอนโคลงสำหรับเด็ก เล่นเกมที่ใช้คำพูด เช่น ยี่สิบคำถาม

       เด็กที่พูดล่าช้าต้องได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องและกระทำอย่างสม่ำเสมอ ควรเลือกกิจกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ภาษาโดยไม่รู้ตัว ถ้าผู้เลี้ยงดูเด็กเลือกโอกาสให้เหมาะสมกับโอกาสและสถานการณ์ก็ใช้เป็นกิจกรรมในการสอนภาษาและการพูดได้เป็นอย่างดี นักแก้ไขการพูดจะช่วยให้คำแนะเกี่ยวกับกิจกรรมและวิธีปฏิบัติต่อในการกระตุ้นการพูด แต่บุคคลในครอบครัวจะต้องพยายามทำตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอด้วยจึงจะได้ผลดี 

ไม่มีความคิดเห็น: