ก่อนอื่นนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่า การที่พี่อิจฉาน้องนั้นเป็นเรื่องปกติค่ะ โดยเฉพาะในพี่คนโต ที่มีอายุ 1-3 ปี เพราะเขาเคยเป็นหนึ่งมาตลอด เคยได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ตลอดเวลา แต่อยู่ๆ เมื่อมีน้องใหม่ คุณพ่อคุณแม่ต้องแบ่งเวลาให้น้องคนเล็ก ทำให้ความสนใจที่เขาเคยได้จากคุณพ่อคุณแม่ลดลง เขาจึงพยายามที่จะเรียกร้องความสนใจ ต้องการให้กอด ให้อุ้มมากขึ้น
บางครั้งก็จะแสดงพฤติกรรมถดถอยเช่น ฉี่ หรืออึราด โดยไม่ยอมบอก, ดูดนิ้ว, กลับไปดูดขวดนมอีก หลังจากที่เคยเลิกขวดนมได้แล้ว หรือ อาจจะก้าวร้าวเพิ่มขึ้น เช่น แกล้งน้อง ชอบจับน้องแรงๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องปกติ และสามารถป้องกันได้ บางพฤติกรรมก็จะดีขึ้นเองใน 2-3 เดือนค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่จะต้องหาเวลาพูดคุยกับเขาทุกวันเพื่อให้เกิดการรับรู้และไว้วางใจ เช่น หนูกำลังจะมีน้องนะคะ...ตอนนี้น้องอยู่ในท้องแม่เหมือนที่หนูเคยอยู่และให้เขาได้จับหน้าท้องขณะที่น้องดิ้น ให้นอนกอดน้อง(กอดท้องคุณแม่),หอมน้อง,พูดแต่เรื่องดีๆเกี่ยวกับการที่เขาจะมีน้องหรือสมาชิกในครอบครัวเพิ่มอีกคน...สร้างความรู้สึกที่ดีให้พี่มีต่อน้อง ให้พี่รู้สึกมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมของเล่น และของใช้ของน้อง ,ให้เขาได้พูดคุยหรือเล่านิทานให้น้องฟัง
ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่หรือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดไม่ควรพูดในเรื่องที่อาจจะกระทบจิตใจของเขา เช่น ไม่รักหนูแล้วรักน้องดีกว่า ,เดี๋ยวก็กลายเป็นหมาหัวเน่าแล้ว,เดี๋ยวมีน้องเขาก็ไปรักน้องกันหมดแล้ว ซึ่งจะทำให้เขาเกิดความรู้สึก ไม่ชอบน้อง ไม่รักน้อง เพราะน้องเป็นสาเหตุให้เขาถูกดุ หรือไม่มีคนรัก
เมื่อคุณแม่คลอดน้องแล้วก็ควรให้เขาได้มีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ช่วยของคุณแม่ในการดูแลน้อง เช่น ช่วยหยิบขวดนม หรือช่วยนำผ้าอ้อมไปไว้ที่ถังทิ้งผ้าอ้อม ทาแป้ง ใส่เสื้อผ้า ได้อุ้ม ได้จับน้อง ฯลฯพร้อมทั้งชื่นชมว่าหนูเป็นพี่ที่ดีมาก.... เก่งมาก.... แม่รักหนูกับน้องที่สุดเลย.... น้องก็รักหนูด้วย น้องยิ้มให้หนูด้วย หนูเป็นพี่ที่เก่ง ช่วยดูแลน้องได้ เมื่อน้องโตขึ้นก็จะเป็นเพื่อนเล่นกับหนูและจะเป็นพี่น้องที่คอยช่วยเหลือกัน ฯลฯ
แต่ก็ไม่ควรปล่อยพี่คนโตไว้กับน้องตามลำพังเป็นอันขาดนะคะ เพราะความตื่นเต้น สนใจ อยากรู้ อยากเห็นอาจทำให้เกิดอันตรายกับน้องได้ โดยที่เขาไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายน้อง
คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทนและควบคุมอารมณ์ ต่อพฤติกรรมอิจฉาน้องของผู้เป็นพี่ที่แสดงออก ไม่ควรดุ ว่ากล่าวรุนแรงหรือทำโทษด้วยการตีเมื่อเขาไม่เชื่อฟัง ดื้อรั้นไม่มีเหตุผล แต่ต้องค่อยๆพูดคุยเมื่อเด็กสงบลงก็ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่นแทนค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น