วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555


เมื่อลูกก้าวร้าว...ทำอย่างไร?
พฤติกรรมก้าวร้าว อาจมีลักษณะของพฤติกรรมทำร้ายตัวเองและผู้อื่นหรือสิ่งของ ครูเอมีวิธีแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าวที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับเด็กและผู้อื่นที่อยู่รอบข้าง มาฝากค่ะ


          พฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่รุนแรง และไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับเด็กวัย2-4 ปี ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ควรใช้เทคนิคปรับพฤติกรรมในลักษณะของการเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก และไม่ควรหัวเราะพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก แต่ควรแสดงสีหน้าที่เรียบเฉย นิ่ง สงบ และลอบสังเกตพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ซึ่งอาจใช้เวลาแตกต่างกันประมาณ 10-30 นาทีหรืออาจนานถึง1ชั่วโมง หลังจากที่เด็กมีพฤติกรรมที่ลดลง สงบลง ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กออกจากเหตุการณ์ช่วงนั้น ไปสู่กิจกรรมอื่นแทนและไม่ควรพูดย้ำเตือนเหตุการณ์นั้นอีก

          ใช้เทคนิคปรับพฤติกรรมด้วยวิธี time out โดยจัดมุมห้อง มุมใดมุมหนึ่งในบ้าน ซึ่งมุมนั้นควรเป็นมุมเงียบและไม่มีสิ่งที่เด็กสนใจ แต่ต้องไม่น่ากลัวสำหรับเด็ก ไม่ควรมีอุปกรณ์ใดๆ เป็นแรงเสริมให้เด็กสนใจหรือต้องการ ถ้าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายข้าวของ นำเด็กแยกออกจากสิ่งแวดล้อมขณะนั้นและนำเข้ามุมที่จัดไว้สำหรับปรับพฤติกรรม(มุมสงบ) ชั่วคราว เวลาที่ใช้ในการควบคุมพฤติกรรมเด็ก พิจารณาตามอายุ เช่น เด็กอายุ 2 ปี ใช้ 2 นาที  และคอยดูแลอยู่ห่างๆ และเมื่อครบเวลานำเด็กออกจากมุมนั้น….ถ้าเด็กยังแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีกก็จะต้องใช้วิธี..time..out..ทุกครั้ง
          เทคนิคปรับพฤติกรรมโดยวิธีลงโทษ เป็นวิธีการหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยทันที ซึ่งพฤติกรรมนั้นค่อนข้างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อตัวเด็กและผู้อื่น แต่ควรใช้เป็นวิธีสุดท้ายกับเด็กเพราะเด็กไม่สามารถเข้าใจถึงเหตุผลต่างๆที่เกิดขึ้น แต่กลับเรียนรู้ว่าถ้าจะหยุดพฤติกรรมอื่นๆจะต้องใช้การลงโทษ(ซึ่งอาจใช้การตีการกัด)ไปใช้แก้ปัญหากับเด็กหรือผู้อื่นแทน

          ถ้าพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กรุนแรงและเป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือตัวเด็กเอง อาจใช้วิธีกอดรัดเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรม และไม่สนใจต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก เด็กอาจจะดิ้นหรือต่อต้าน

          ผู้ใหญ่ต้องมีความชัดเจน อดทน และสม่ำเสมอ ต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก เมื่อเด็กสงบลงใช้วิธีเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมใหม่แทน ไม่พูดตำหนิในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และถ้าเด็กเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้อีก ก็อาจจะใช้วิธีการปรับพฤติกรรมเช่นนี้อีกทุกครั้ง