วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

เด็กเล็ก...ยิ่งรักยิ่งเรียนรู้


สมอง กับการเรียนรู้
ฉบับนี้ครูเอมีข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อยช่วงอายุ 0-3 ขวบ มาฝากคุณพ่อคุณแม่นะคะ   
การเลี้ยงดูลูกน้อยช่วงอายุ 0-3 ขวบ นับว่าเป็นช่วงสำคัญยิ่ง คุณพ่อคุณแม่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่ลูกน้อยมีการพัฒนาสมองให้เกิดการเรียนรู้ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
เด็กบางคนที่ถูกทอดทิ้งตั้งแต่เกิด ไม่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรัก ความอ่อนโยนจากพ่อแม่ ทำให้ใยประสาทของเซลล์สมองเกิดน้อย ส่งผลให้เด็กนั้นมีการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ได้ช้า ทำอะไรไม่ค่อยเป็น เฉื่อยชา ขาดเหตุผล
            แต่ในทางตรงกันข้าม เด็กที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ ลูกน้อยจะได้รับการกระตุ้นทางตา หู ลิ้น จมูก และกายอยู่เป็นประจำตลอดเวลา ซึ่งลูกจะได้รับการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่นได้รส และที่สำคัญได้รับการสัมผัสแห่งรักจากพ่อแม่ ซึ่งจะทำให้ใยประสาทของเซลล์สมองงอกงาม เกิดการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆได้ง่ายฉลาดที่จะจดจำ เป็นเด็กที่มีชีวิตชีวา รู้เหตุรู้ผล อันจะส่งผลให้ลูกน้อยเกิดการพัฒนา สามารถเรียนรู้ คิดเป็นทำเป็น เป็นบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต และไม่เป็นปัญหาของสังคม (อ้างอิงจากหนังสือ YOCHIEN EDVA OSOSUGIRU, การบริหารสมองของ ดร.พัชรีวัลย์ เกตุแก่นจันทร์)

 การบริหารสมองจะทำให้สมองทั้ง 2 ซีกทำงานไปพร้อมๆกันและเพิ่มความแข็งแรงในการทำงานให้ประสานกันอีกด้วย     การดื่มน้ำสะอาดบริสุทธิ์ก่อน  และหลังการบริหารสมองจะช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้น เช่นเดียวกับการหายใจที่ถูกต้อง คือ การหายใจเข้า ลึกๆ ช้าๆ และหายใจออกช้าๆ ให้ช้ากว่าการหายใจเข้าเพื่อให้สมอง ได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่รวมทั้งการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะจะทำให้สมองมีพลังงานทำงานได้เต็มศักยภาพ     
 การบริหารสมอง(Brain Gym) ทำได้ด้วยท่าง่ายๆ 4 ท่า คือ                                                                                                       1. การเคลื่อนไหวสลับข้าง ทำให้การทำงานของสมองสองซีกถ่ายโยงข้อมูลกันได้ เช่น การวิ่งเหยาะอยู่กับที่ช้าๆ กำมือซ้าย-ขวา ไขว้กันระดับหน้าอก กางแขนทั้งสองออกห่างกันเป็นวงกลม แล้วเอามือกลับมาไขว้กันเหมือนเดิม                                                                                                                                                        2. การยืดส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดของสมองส่วนหน้าและส่วนหลัง มีสมาธิในการเรียนรู้และทำงาน

3. การเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้น ทำให้เกิดการกระตุ้นความรู้สึกทางอารมณ์ เกิดแรงจูงใจ เพื่อช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น เช่น การใช้นิ้วชี้นวดขมับเบาๆ ทั้งสองข้างวนเป็นวงกลม ใช้มือทั้งสองเคาะที่ตำแหน่งกระดูกหน้าอกโดยสลับมือกันเคาะเบาๆ                                                                                                                                
4. ท่าบริหารร่างกายง่ายๆ เช่น การกำมือสองข้าง ยกขึ้นไขว้กับระดับตา ตามองมือที่อยู่ด้านนอก เปลี่ยนมือทำเช่นเดียวกัน

การบริหารสมองอย่างถูกต้อง ถูกวิธีจะให้ผลดีกับทุกๆ คนในครอบครัว และที่สำคัญสมองกับการเรียนรู้ของลูกรักจะพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวจักรที่สำคัญในการใส่ใจ และส่งเสริมลูกน้อยตั้งแต่เยาว์วัยนะคะ
ที่มา: ข้อมูลจาก วารสาร Kid's guide