วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2555

สร้างลูกน้อยให้เป็นคนสร้างสรรค์

น้องบิว บ้านแม่พระ

    คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการเลี้ยงดูลูกน้อยให้เติบโตเป็นเด็กที่มี ความคิดสร้างสรรค์  

          จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการค่ะ เช่น  เมื่อลูกจะทำอะไร คุณแม่ก็  อย่าๆ  ห้ามไว้ก่อน หรือใช้ความคิดประเภท  ปลอดภัยไว้ก่อน  

               
                 จนบางครั้งก็ทำให้ความกล้าที่จะคิด  ความกล้าที่จะทำอะไรของลูกน้อยต้องสะดุดหยุดลงทุกครั้งไป  

                 ทำให้เด็กไม่กล้าคิด  ไม่กล้าแสดงออก  ไม่กล้าเดินนำหน้าใครด้วยตนเอง  ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความคิดของเด็ก

ฉบับนี้ครูเอมีเทคนิคง่ายๆในการฝึกลูกน้อยให้เป็นคนสร้างสรรค์  ( ที่บ้าน ) มาฝากด้วยค่ะ

น้องจูน บ้านแม่พระ
1.  ฝึกให้ลูกได้คิดมากๆ พยามยามป้อนคำถามให้ลูกตอบให้มากที่สุด  โดยไม่ต้องคำนึงคำว่าถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่นะค่ะ   แต่ให้ลูกคิดออกมามากๆ  ในเวลาที่จำกัดและเมื่อลูกตอบถ้ามีการเสริมแรงด้วยคำชม  การปรบมือให้ก็จะดีมากเลยนะคะ ฝึกทำเช่นนี้สม่ำเสมอลูกของเราก็จะ คิดคล่องและ รู้จักถามด้วยค่ะ

2.  ฝึกให้มีความคิดยืดหยุ่น  คือมีคำตอบในทิศทางที่แตกต่างกันไม่ซ้ำกัน

3.  ฝึกให้มีความคิดที่แปลกใหม่  แนะนำให้ลูกคิดถึงสิ่งใหม่  สิ่งที่ไม่มีใครคิดถึงซึ่งไม่ใช่คำตอบปกติ

4.  ฝึกให้มีความคิดที่ถักทอโยงใยเป็นความคิดที่เชื่อมโยง  คิดในสิ่งที่คนอื่นสังเกตไม่ได้  นำสิ่งที่ไม่   น่าเชื่อมโยงกันได้มาโยงเข้าหากันได้     นอกจากนี้ก็ยังควรฝึกให้เด็กมีความละเอียดลออเห็นในรายละเอียดที่คนอื่นไม่สังเกต   

            ความสามารถด้าน ความคิดสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาได้นะคะหากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจถึงแนวทางพื้นฐานเบื้องต้น คือ การฝึกการสังเกตและฝึกวิธีคิดทั้ง 4 ด้าน* ที่สำคัญคือ เสรีภาพในครอบครัวจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์   คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ปิดกั้นหนทางในการสร้างสรรค์ของลูกน้อยค่ะ

                                                                              *อ้างอิงหนังสือหนูน้อยคุณภาพ หน้า  41-42

วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555


เมื่อลูกก้าวร้าว...ทำอย่างไร?
พฤติกรรมก้าวร้าว อาจมีลักษณะของพฤติกรรมทำร้ายตัวเองและผู้อื่นหรือสิ่งของ ครูเอมีวิธีแก้ไขพฤติกรรมก้าวร้าวที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับเด็กและผู้อื่นที่อยู่รอบข้าง มาฝากค่ะ


          พฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่รุนแรง และไม่เป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้กับเด็กวัย2-4 ปี ไม่ว่าจะเป็นเด็กปกติหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ควรใช้เทคนิคปรับพฤติกรรมในลักษณะของการเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก และไม่ควรหัวเราะพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก แต่ควรแสดงสีหน้าที่เรียบเฉย นิ่ง สงบ และลอบสังเกตพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก ซึ่งอาจใช้เวลาแตกต่างกันประมาณ 10-30 นาทีหรืออาจนานถึง1ชั่วโมง หลังจากที่เด็กมีพฤติกรรมที่ลดลง สงบลง ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กออกจากเหตุการณ์ช่วงนั้น ไปสู่กิจกรรมอื่นแทนและไม่ควรพูดย้ำเตือนเหตุการณ์นั้นอีก

          ใช้เทคนิคปรับพฤติกรรมด้วยวิธี time out โดยจัดมุมห้อง มุมใดมุมหนึ่งในบ้าน ซึ่งมุมนั้นควรเป็นมุมเงียบและไม่มีสิ่งที่เด็กสนใจ แต่ต้องไม่น่ากลัวสำหรับเด็ก ไม่ควรมีอุปกรณ์ใดๆ เป็นแรงเสริมให้เด็กสนใจหรือต้องการ ถ้าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายผู้อื่น หรือทำลายข้าวของ นำเด็กแยกออกจากสิ่งแวดล้อมขณะนั้นและนำเข้ามุมที่จัดไว้สำหรับปรับพฤติกรรม(มุมสงบ) ชั่วคราว เวลาที่ใช้ในการควบคุมพฤติกรรมเด็ก พิจารณาตามอายุ เช่น เด็กอายุ 2 ปี ใช้ 2 นาที  และคอยดูแลอยู่ห่างๆ และเมื่อครบเวลานำเด็กออกจากมุมนั้น….ถ้าเด็กยังแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอีกก็จะต้องใช้วิธี..time..out..ทุกครั้ง
          เทคนิคปรับพฤติกรรมโดยวิธีลงโทษ เป็นวิธีการหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมโดยทันที ซึ่งพฤติกรรมนั้นค่อนข้างรุนแรงและเป็นอันตรายต่อตัวเด็กและผู้อื่น แต่ควรใช้เป็นวิธีสุดท้ายกับเด็กเพราะเด็กไม่สามารถเข้าใจถึงเหตุผลต่างๆที่เกิดขึ้น แต่กลับเรียนรู้ว่าถ้าจะหยุดพฤติกรรมอื่นๆจะต้องใช้การลงโทษ(ซึ่งอาจใช้การตีการกัด)ไปใช้แก้ปัญหากับเด็กหรือผู้อื่นแทน

          ถ้าพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กรุนแรงและเป็นอันตรายต่อผู้อื่นหรือตัวเด็กเอง อาจใช้วิธีกอดรัดเพื่อหยุดยั้งพฤติกรรม และไม่สนใจต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก เด็กอาจจะดิ้นหรือต่อต้าน

          ผู้ใหญ่ต้องมีความชัดเจน อดทน และสม่ำเสมอ ต่อพฤติกรรมที่เด็กแสดงออก เมื่อเด็กสงบลงใช้วิธีเบี่ยงเบนไปสู่กิจกรรมใหม่แทน ไม่พูดตำหนิในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว และถ้าเด็กเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้อีก ก็อาจจะใช้วิธีการปรับพฤติกรรมเช่นนี้อีกทุกครั้ง 

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ลูกเก่ง ดี พ่อแม่สร้างได้


เล่านิทาน-อ่านให้ลูกฟัง พ่อแม่ทำได้


ฉบับนี้ครูเอขอแบ่งปันข้อมูล ความรู้ที่ได้จากการไปอบรมมาเมื่อวันที่ 16-17 มิถุนายน 2555 ในโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเล่านิทาน อ่านและเล่นกับลูก รุ่นที่ 2 เรื่อง การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย โดยใช้กิจกรรมการหนังสือหรือเล่านิทานให้ฟังและการเล่นกับลูก มาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

การหนังสือหรือเล่านิทานให้ฟัง  การอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่วัยเด็กสามารถช่วยส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน ช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานและช่วยกระตุ้นทักษะการอ่านทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่รวดเร็ว มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ด้วย 

พยายามหาเวลาว่างทุกวันเพื่ออ่านหนังสือให้ลูกฟัง เหมือนว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ลูกจะได้มีส่วนร่วมกับคนในครอบครัว และอย่ากังวลหากลูกจะมีความสนใจเพียงระยะสั้น ลองให้เขาจับหนังสือ เปิดดูหน้าต่างๆ  ด้วยตัวเอง ให้ลูกรู้สึกถึงเรื่องราว สี และรูปทรง ในหนังสือ นอกจากอ่านหนังสือแล้ว ควรพูดคุยกับลูกทุกๆ วันเพื่อเพิ่มปริมาณคำศัพท์ใหม่ๆ ในคลังสมองของลูก   
        
นิทานสำหรับเด็ก ภาพและหนังสือที่ปรากฏบนหนังสือนิทาน คือ โลกของภาษา การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง จึงมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาของเด็ก เพราะเป็นอาหารสมองและอาหารใจของลูก การทำให้เด็กรักการอ่านหนังสือไม่ยากเพราะเด็กมีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสนุกสนานถ้าได้หนังสือที่ชอบและอยากอ่าน

นิทานสำหรับเด็กควรเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก ซึ่งหมายถึงหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้เด็กฟัง ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็กอ่าน การเล่านิทานให้ลูกฟังด้วยเสียงตนเอง ใช้ภาษาที่ดี เวลาเล่า ความรู้สึกของผู้เล่าจะผ่านไปสู่ตัวลูกด้วย ถ้าผู้เล่านิทานรู้สึกตื่นเต้น ลูกก็จะรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย เป็นการสร้างความรู้สึกร่วมกันระหว่างพ่อแม่และลูกระหว่างการเล่านิทานด้วย

การเล่านิทานเพียง 5 – 10 นาที ต่อเล่ม แต่ผลที่มีต่อลูกและความสุขในครอบครัวนั้นมหาศาล ลูกจะได้รับการพัฒนาทักษะการฟังและการพูด สร้างจินตนาการแก่เด็ก ฝึกสมาธิ ให้เด็กรู้จักสำรวจ ให้จดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง ซึ่งเป็นพื้นฐานการเตรียมความพร้อมด้านการอ่านหนังสือและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กไปพร้อมๆกัน

การเล่นกับลูก  สมองของคนเรามีอยู่ 2 ซีก  ซีกขวา และซีกซ้าย  ซีกขวาจะควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้าย และสมองซีกซ้ายจะควบคุมการทำงานของร่ายการซีกขวา  สมองทางซีกซ้ายเป็นส่วนที่ควบคุมการคิด และมีการทำงานที่ออกมาเป็นนามธรรม เช่น การนับจำนวนเลขการบอกเวลาการสรรหาถ้อยคำการหาเหตุผล  เป็นต้น  

ส่วนสมองซีกขวาจะทำหน้าที่จินตนาการฝันสร้างสรรค์ความคิดใหม่การซึมซาบในดนตรีและศิลปะ เป็นต้น  ดังนั้นการที่คนเราสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้นั้น  เกิดจากการทำงานของสมองซีกขวานี้เอง เมื่อสมองซีกขวาทำงาน สมองซีกซ้ายจะรับหน้าที่แสดงผลการทำงานออกมาให้คนอื่นเห็น

เด็กในช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี เป็นวัยแห่งการคิดฝันจินตนาการ  เด็กในวัยนี้ควรจะได้รับการกระตุ้น โดยการส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ความคิดจินตนาการของเด็กเองโดยการพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีกไปพร้อมกันและเท่าเทียมกัน  

การเล่นต่างๆ ที่สมวัยก็สามารถส่งเสริมการพัฒนาทางสมองซีกซ้ายของเด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 6 ปีได้  โดยการเล่นของเล่นหรือหากิจกรรมต่างๆ มาเล่นกับลูก เพราะการเล่นมีความสำคัญ สำหรับเด็กทุกคน ทุกวัย ลูกจะเรียนรู้ได้มากจากการเล่น จะสนุกสนาน กับการค้นพบสิ่งใหม่ๆ จากการเล่น กับคนที่เขาเล่นด้วย ได้แสดงออก ได้เล่น เลียนแบบท่าทาง โดยเน้นที่ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน 

อย่าทำให้ลูกมีความรู้สึกเหมือนถูกบังคับ  รวมทั้งพ่อแม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกของตน โดยทำตัวให้เหมือนกับที่ตนได้สั่งสอนลูก  

เด็กจะสามารถพัฒนาความสามารถทางสมองของเขาเองได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะกลายเป็นเด็กที่มีความมั่นคงทางจิตใจ มีความมั่นคงในตนเองมีเหตุมีผลในเรื่องต่างๆและที่สำคัญเด็กจะเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะการเล่นมีความสำคัญ สำหรับเด็กทุกคน ทุกวัย ลูกจะเรียนรู้ได้มาก จากการเล่น จะสนุกสนาน กับการค้นพบสิ่งใหม่ๆ จากการเล่น กับคนที่เขาเล่นด้วย ได้แสดงออก ได้เล่น เลียนแบบท่าทาง

เทคนิคการเล่านิทาน เป็นเคล็ดลับอีกประการหนึ่งที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ประสบผลสำเร็จในการส่งเสริมพัฒนาการ ทักษะกระบวนการเรียนรู้ สติปัญญา จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของลูก รวมถึงการปลูกฝังข้อคิดคุณธรรมในจิตใจของลูกได้เป็นอย่างดีด้วย  เช่น

4  การเล่าปากเปล่า          ;           ซึ่งเน้นการใช้น้ำเสียงหนัก – เบา  อย่าตะโกน/ไม่ใช้คำหยาบ
4  การเล่าไปเล่นไป          ;           เป็นการเล่าที่ควบคู่กับการเล่น
4  การเล่าไปวาดไป         ;           เป็นการเล่าที่ประกอบการวาด
4  การเล่าไปฉีกไป           ;           เป็นการเล่าที่ประกอบกับการฉีกกระดาษอย่างสร้างสรรค์
4  เล่าไปให้อุปกรณ์ไป    ;           เป็นการเล่าที่มีอุปกรณ์มาประกอบเพื่อดึงความสนใจ
4  เล่าเรื่องที่ลูกสนใจ       ;           เป็นการเล่าที่เน้นในสิ่งที่ลูกสนใจ เช่น การเล่าเรื่องสัตว์ เป็นต้น
4  การเล่าอย่างมีชีวิตชีวา ;          เป็นการเล่าที่เน้นวิธีการเล่าที่สร้างให้ลูกสนใจและตื่นตัวในการฟัง
4  นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ;       เพราะในนิทานมีการสอนในหลานกหลายแง่มุม ขึ้นอยู่กับมุมมอง/หลายแง่คิด

วันพุธที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เล่นอย่างมีคุณค่า


การเล่นช่วยพัฒนาลูกน้อยได้จริงหรือ


          การเล่นเป็นอีกวิธีหนึ่งซึ่งจะช่วยพัฒนาความเก่ง ความฉลาดให้กับลูกน้อยและเป็นวิธีที่เขาจะได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน 

       การเล่นจะช่วยพัฒนาลูกรักได้เป็นอย่างดี เช่น การเล่นเครื่องเล่นสนาม การเล่นบล็อก(ไม้รูปทรง/สี ต่างๆ) การร้อยลูกปัด(เลือกขนาดที่เหมาะกับวัยของเด็ก) ฯลฯ  ลูกรักจะได้พัฒนาและฝึกทักษะการคิด จินตนาการ และทักษะการสังเกต ไปพร้อมๆกัน

       นอกจากนี้ การเล่นยังช่วยให้ลูกรักได้รู้จักพลิกแพลง  การคิดเพื่อแก้ปัญหา และการเล่นร่วมกับผู้อื่นยังช่วยฝึกให้ลูกรักได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้มีทักษะทางสังคม ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข ฝึกทักษะการเป็นผู้นำผู้ตามที่ดี

       ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรส่งเสริมการเล่นให้ลูกรักอย่างถูกวิธี  ให้ลูกรักได้เล่นตามวัยและเล่นอย่างปลอดภัย เล่นอย่างมีจุดหมาย เช่น การเล่นโยนบอล ครั้งแรกลูกรักอาจเล่นไม่เป็น  ทำไม่ได้ คุณพ่อคุณต้องบอกหรือสอนวิธีการเล่น พร้อมทั้งแม่อาจโยนลูกบอลเล็กๆ เบาๆให้ลูกฝึกรับ ทำซ้ำๆ เล่นซ้ำๆ ลูกรักก็จะเล่นเป็นและรู้สึกสนุกกับการเล่น

วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมื่อลูกหัดเดิน...แล้วอย่างไร?
            
     สวัสดีค่ะคุณพ่อคุณแม่ทุกท่าน เมื่อถึงเวลาที่ลูกน้อยจะต้องหัดเดินแล้ว คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะเกิดความกังวล เป็นห่วง กลัวว่าลูกน้อยจะได้รับบาดเจ็บ ได้รับอันตรายจากการหัดเดิน จึงต้องคอยอุ้ม คอยจูง คอยปกป้องกันสุดฤทธิ์ จนลูกรักแทบจะไม่ได้ฝึกเดินเลย
     การกลัวหรือออกอาการปกป้องลูกมากเกินไป  อาจส่งผลให้พัฒนาการด้านร่างกาย (กล้ามเนื้อ) และความสามารถของลูกน้อยไม่เป็นไปตามวัย
           
               และอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อลูกน้อยหัดยืนได้แล้ว แต่ยังไม่กล้าที่จะก้าวหรือเดินไปข้างหน้าเพราะกลัวล้ม กลัวเจ็บ ขาดความมั่นใจและที่สำคัญ คือ ขาดกำลังใจที่ดีจากบุคคลใกล้ชิด แต่ไม่เป็นไรค่ะ ครูเอมีวิธีเกี่ยวกับการหัดเดินให้ลูกน้อยมาฝากกันดังนี้นะคะ 
   
             ใช้ผ้าสอดใต้รักแร้  โอบแผ่นอก แล้วรวบมัดไว้ด้านหน้า เมื่อลูกน้อยยืนและก้าวไปข้างหน้า คุณพ่อหรือคุณแม่ต้องถือผ้าไว้ให้แน่น วิธีนี้จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ลูกน้อย แต่อย่าให้หลุดจากมือนะคะ เพราะถ้าผ้าหลุดจากมืออาจจะทำให้ลูกน้อยหกล้ม ได้รับบาดเจ็บและเข็ดหรือเกิดความกลัวจนไม่กล้าเดิน
        
     ใช้อุปกรณ์ในบ้านช่วยฝึก  เพื่อให้ลูกน้อยรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินในการเดิน และเปลี่ยนจากเรื่องที่ยากให้เป็นเรื่องที่ง่าย  เมื่อลูกน้อยเล่นเพลินๆ และลุกขึ้นเกาะ/จับสิ่งของที่เลื่อนไปมาได้ เช่น เก้าอี้ที่มีพนักพิง กล่อง/ลัง(แข็งแรง)  ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ ก็ลากสิ่งของนั้นๆเลื่อนไปข้างหน้าอย่างช้าๆ ลูกน้อยก็จะจับแน่นขึ้นและก้าวเท้าเดินตามอย่างง่ายดายเพราะคิดว่ากำลังเล่นอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ค่ะ

        จับมือลูกน้อย  วิธีนี้ให้คุณพ่อคุณแม่จับมือลูกน้อยไว้แล้วพาเดินไปช้าๆ ชวนคุย ชวนเล่น ชี้ให้ดูสิ่งต่างๆรอบตัว เพื่อให้สนุกสนานลืมเรื่องการฝึกเดิน
 
           ให้โผเข้าหาคุณพ่อคุณแม่  กลยุทธ์นี้ให้คุณพ่อคุณแม่หรือบุคคลใกล้ชิดนั่งหันหน้าเข้าหากัน นั่งห่างกันประมาณ   2-3 ก้าวในการเดินของลูกน้อย แล้วผลัดกันเรียกให้ลูกน้อยเดินเข้าไปหา แล้วยื่นมือไปรับ เพื่อสร้างความมั่นใจในการก้าวเดินของลูกน้อย แต่ในขณะที่ลูกน้อยกำลังก้าวเดินนั้นไม่ต้องให้มือถูกตัวหรือประคองไว้นะคะ  แล้วลูกน้อยจะรู้สึกสนุกในการโผเข้าหาคนนั้นทีคนนี้ทีคะ
             
   ลองเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายๆวิธีผสมผสานกันไปก็ย่อมได้นะคะ เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความสนุกสนานของลูกน้อยในการฝึกเดิน และคนในครอบครัวค่ะ

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

กลเม็ดสอนลูกกินผัก

                             


แม่จ๋า...หนูไม่อยากกินผัก


เด็กส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยชอบทานผัก เวลารับประทานอาหารถ้าเห็นผักต้องรีบเขี่ยทิ้งทันที ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพยายามอธิบายเกี่ยวกับประโยชน์ของการรับประทานผัก  หรือหลอกล่อต่างๆนาๆ ลูกรักก็ยังไม่ยอมรับประทานผักง่ายๆ  คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายลองนำวิธีการฝึกให้ลูกรักรับประทานผักไปใช้ดูนะคะ
        
            1. ยกตัวอย่างการ์ตูน/บุคคลต่างๆ โดยเลือกเรื่องที่เด็กๆรู้จัก เช่น การ์ตูนเรื่องป๊อปอาย  พอป๊อปอายกินผักเมื่อไรจะมีพลัง แข็งแรง สามารถปกป้องตนเองจากอันตรายต่างๆได้ หรือบุคคลอื่นๆที่ลูกรักรู้จัก เช่น  รับประทานผักแล้วจะแข็งแรงเหมือนนักกีฬา ,ผิวสวยเหมือนนางสาวไทย ,จะได้มีแรงเตะฟุตบอล   ฯลฯ  
            
     2.ให้ลูกรักคลุกคลีอยู่กับผักเสมอๆ โดยเฉพาะในช่วงกำลังซน กำลังเริ่มคลาน ชอบหยิบจับของไปเรื่อย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ลองเปลี่ยนของเล่นที่ลูกรักชอบหยิบ/ถือเล่น เป็นผักแทนเพราะบางครั้งเมื่อลูกรักเล่นของเล่นก็อาจจะเอาใส่ปาก ได้กัด ได้เคี้ยว จะทำให้ลูกรักได้รับรู้เกี่ยวกับรสชาติ  ได้คุ้นเคยและชอบ เพราะรู้ว่าผักสามารถรับประทานได้ไม่น่ากลัว

           3. เปลี่ยนเมนูหรือรายการอาหารบ่อยๆ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซาก จำเจ  และหั่นผักให้มีขนาดเล็กรับประทานได้ง่าย  ตกแต่งอาหารให้มีสีสันดึงดูดใจ เช่น ผัดฟักทองใส่ไข่อาจจะหั่นแครอทเป็นลูกเต๋าเล็กๆใส่ด้วยเพื่อเพิ่มสีสันและดึงดูดใจมากขึ้น  (แครอทและผักที่มีกลิ่นหรือรสชาติขม  อาจจะต้มให้สุกก่อนแล้วค่อยนำไปทำอาหารให้ลูกรักเพื่อให้นิ่ม  ไม่มีรสขมไม่มีกลิ่นเหม็นเขียว ซึ่งง่ายต่อรับประทานของลูกรัก)  พูดเล่นกับลูกรักก่อนไปรับประทานอาหาร เช่น เดี๋ยวเราไปทานคอลาเจนแตงกวา คอลาเจนผักบุ้ง  (ใช้คำว่า “คอลาเจน”แทนคำว่าผัก...นั่นเอง)

         4.เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกรัก โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องรับประทานผักเป็นตัวอย่างให้กับลูกรัก ชักชวนให้ลูกเกิดความอยากรับประทานผักตามซึ่งอาจจะต้องทำบ่อยๆและเมนูอาหารควรจะต้องมีผักทุกวัน

            ในแต่ละวันคุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้แค่1 วิธีที่จะให้ลูกรักรับประทานผัก แต่บางครั้งอาจจะต้องใช้ทุกวิถีทางและต้องใช้เวลา ความอดทน ค่อยเป็นค่อยไปในการฝึกฝนลูกรัก

            ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกรัก  คิดว่าคงจะไม่ยากเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านนะคะ

วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2555

เด็กเล็ก...ยิ่งรักยิ่งเรียนรู้


สมอง กับการเรียนรู้
ฉบับนี้ครูเอมีข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกน้อยช่วงอายุ 0-3 ขวบ มาฝากคุณพ่อคุณแม่นะคะ   
การเลี้ยงดูลูกน้อยช่วงอายุ 0-3 ขวบ นับว่าเป็นช่วงสำคัญยิ่ง คุณพ่อคุณแม่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพราะเป็นช่วงที่ลูกน้อยมีการพัฒนาสมองให้เกิดการเรียนรู้ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
เด็กบางคนที่ถูกทอดทิ้งตั้งแต่เกิด ไม่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรัก ความอ่อนโยนจากพ่อแม่ ทำให้ใยประสาทของเซลล์สมองเกิดน้อย ส่งผลให้เด็กนั้นมีการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆ ได้ช้า ทำอะไรไม่ค่อยเป็น เฉื่อยชา ขาดเหตุผล
            แต่ในทางตรงกันข้าม เด็กที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ ลูกน้อยจะได้รับการกระตุ้นทางตา หู ลิ้น จมูก และกายอยู่เป็นประจำตลอดเวลา ซึ่งลูกจะได้รับการได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่นได้รส และที่สำคัญได้รับการสัมผัสแห่งรักจากพ่อแม่ ซึ่งจะทำให้ใยประสาทของเซลล์สมองงอกงาม เกิดการเรียนรู้ในสิ่งต่างๆได้ง่ายฉลาดที่จะจดจำ เป็นเด็กที่มีชีวิตชีวา รู้เหตุรู้ผล อันจะส่งผลให้ลูกน้อยเกิดการพัฒนา สามารถเรียนรู้ คิดเป็นทำเป็น เป็นบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต และไม่เป็นปัญหาของสังคม (อ้างอิงจากหนังสือ YOCHIEN EDVA OSOSUGIRU, การบริหารสมองของ ดร.พัชรีวัลย์ เกตุแก่นจันทร์)

 การบริหารสมองจะทำให้สมองทั้ง 2 ซีกทำงานไปพร้อมๆกันและเพิ่มความแข็งแรงในการทำงานให้ประสานกันอีกด้วย     การดื่มน้ำสะอาดบริสุทธิ์ก่อน  และหลังการบริหารสมองจะช่วยให้การทำงานของสมองดีขึ้น เช่นเดียวกับการหายใจที่ถูกต้อง คือ การหายใจเข้า ลึกๆ ช้าๆ และหายใจออกช้าๆ ให้ช้ากว่าการหายใจเข้าเพื่อให้สมอง ได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่รวมทั้งการบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะจะทำให้สมองมีพลังงานทำงานได้เต็มศักยภาพ     
 การบริหารสมอง(Brain Gym) ทำได้ด้วยท่าง่ายๆ 4 ท่า คือ                                                                                                       1. การเคลื่อนไหวสลับข้าง ทำให้การทำงานของสมองสองซีกถ่ายโยงข้อมูลกันได้ เช่น การวิ่งเหยาะอยู่กับที่ช้าๆ กำมือซ้าย-ขวา ไขว้กันระดับหน้าอก กางแขนทั้งสองออกห่างกันเป็นวงกลม แล้วเอามือกลับมาไขว้กันเหมือนเดิม                                                                                                                                                        2. การยืดส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้ผ่อนคลายความตึงเครียดของสมองส่วนหน้าและส่วนหลัง มีสมาธิในการเรียนรู้และทำงาน

3. การเคลื่อนไหวเพื่อกระตุ้น ทำให้เกิดการกระตุ้นความรู้สึกทางอารมณ์ เกิดแรงจูงใจ เพื่อช่วยให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น เช่น การใช้นิ้วชี้นวดขมับเบาๆ ทั้งสองข้างวนเป็นวงกลม ใช้มือทั้งสองเคาะที่ตำแหน่งกระดูกหน้าอกโดยสลับมือกันเคาะเบาๆ                                                                                                                                
4. ท่าบริหารร่างกายง่ายๆ เช่น การกำมือสองข้าง ยกขึ้นไขว้กับระดับตา ตามองมือที่อยู่ด้านนอก เปลี่ยนมือทำเช่นเดียวกัน

การบริหารสมองอย่างถูกต้อง ถูกวิธีจะให้ผลดีกับทุกๆ คนในครอบครัว และที่สำคัญสมองกับการเรียนรู้ของลูกรักจะพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวจักรที่สำคัญในการใส่ใจ และส่งเสริมลูกน้อยตั้งแต่เยาว์วัยนะคะ
ที่มา: ข้อมูลจาก วารสาร Kid's guide

วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

รักลูก ปลุกพลังคิด สร้างพลังชีวิต



การคิด เป็นพลังสร้างสรรค์เรื่องดีทั้งต่อตัวเด็กและผู้อื่น แต่ก่อนที่ลูกๆจะเข้าใจเรื่องนี้ มีทักษะความคิดดีๆ เกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยแบบอย่างการสะสมประสบการณ์จากคุณพ่อคุณแม่ ลองมาดูวิธีการจากกิจกรรมต่อไปนี้ เพื่อเป็นแนวทาง นำไปปรับใช้ชวนลูกๆ คิดกันค่ะ
1. ชวนคุย   ทุกๆ เรื่องที่ลูกพูดคุยเป็นประจำกับคุณนั่นแหละค่ะ แม้ว่าเรื่องที่ลูกคิดสิ่งที่พ่อแม่ได้ยินได้ฟัง ดูเหนือธรรมชาติ ต่างจากความจริง แต่หากคิดตามฟังเสียงลูกจะเข้าใจว่า ลูกมีความคิดอย่างไร สนใจสิ่งใด และโลกจินตนาการของลูกที่แฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์สามารถนำมาต่อยอดชวนลูกคิดได้
How to  สังเกตว่าลูกใส่ใจกับอะไร สิ่งใด เพื่อคอยช่วยสนับสนุนหรือให้ลูกได้เรียนรู้ สัมผัสจากของจริง เช่น ลูกชอบการปั้น การสร้างหุ่นยนต์ ก็อาจพาลูกไปดูการแข่งขันหุ่นยนต์
2. ชวนอ่านหนังสือ            วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การหยิบนิทาน หนังสือสักเล่มที่ลูกชอบ อ่านให้ลูกฟังแล้วตั้งคำถามให้ลูกสนใจ ได้คิด ในขณะที่พ่อแม่เป็นฝ่ายสนับสนุนโลกจินตนาการ ตอบในสิ่งที่ลูกถาม สร้างความคิดในมุมบวกให้ได้มากที่สุดจะช่วยกระตุ้นให้ลูกได้คิด รู้จักแสดงความคิดเห็น
How to  หมั่นตั้งคำถาม เปิดโอกาสดีๆ ให้ลูกแสดงความคิดของตัวเองขณะเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่สอดแทรกความคิดเห็น อธิบายในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม ลูกก็จะได้เรียนรู้ รู้จักรับฟังเหตุผลผู้อื่นด้วย
3. ชวนสนุกกับงานบ้าน    ชวนลูกเก็บกวาด เช็ดถู ทำความสะอาดบ้านห้องนอน ของเล่น กิจกรรมง่ายๆ ในบ้านที่แสนง่าย และมีประโยชน์ เมื่อลูกทำได้แล้ว จากนั้นค่อยๆ เพิ่มเป้าหมายมากขึ้น แต่ก็ต้องคำนึงถึงความสามารถและวัยของลูกเป็นที่ตั้ง
How to  พยายามให้ลูกคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำสิ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ เมื่อลูกทำได้ก็ควรชื่นชมและชมเชย ให้ลูกรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ทำได้
4. ตั้งโจทย์ ทดสอบไอคิว/อีคิว         ลองตั้งโจทย์ง่ายๆ ตรวจดูความคิดกับลูกด้วยสถานการณ์บางเรื่อง เช่น     
ถูกรังแก ถูกเพื่อนแย่งของเล่น เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่า
 ลูกจัดการกับปัญหาอย่างไรค่ะ
How to    ควรให้ลูกรู้ด้วยว่า อุปสรรค ปัญหา ความผิดหวังเป็นเรื่องที่เราทุกคนพบเจอได้ แต่สิ่งสำคัญคือการยอมรับกับความจริง สิ่งที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะจัดการแก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมได้อย่างไร
5. ชวนดูข่าว สารคดีดีๆ     นำมาเป็นประเด็นพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือสิ่งที่ลูกคิด เช่น ข่าวการลักขโมย การทำร้ายเป็นต้น จากนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็อาจสอดแทรกทัศนคติที่ดีหรือวิธีคิดที่เป็นบวก เมื่อฝึกบ่อยๆ วิธีคิดเหล่านี้จะส่งถึงตัวลูก
How to     สอนให้ลูกรู้และเข้าใจว่า ในประเด็นเรื่องเดียวกันความคิดของแต่ละคนอาจรู้สึกและคิดได้หลากหลายมุมมอง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การคิดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้อง ความเป็นเหตุเป็นผลค่ะ
                                         (ขอขอบคุณข้อมูลจาก   Mother & Care ฉบับเดือนพฤษภาคม 2552 Tags: แม่และเด็ก )

วันพุธที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2555

วันเด็ก-เรื่องเด็กๆ


สารพันปัญหาเด็ก..ตอน..จู๋ของหนูนะ
    พ.ญ. วินัดดา ปิยะศิลป์ ได้บันทึกไว้ใน www.clinicdek.com ว่า ช่วงวัย 3 – 5 ปี จะเป็นช่วงที่เด็กสนใจในเรื่องเพศมาก และแสดงออกแบบเปิดเผย คอยซักถามว่า หนูเกิดออกมาอย่างไร ทำไมของหนูถึงไม่เหมือนของพี่ ทำไมหนูต้องนั่งฉี่ ทีพี่ชายยืนฉี่ ทำไมเขาถึงทำได้ ? ดังนี้เป็นต้น
            หลายครั้งที่เด็ก ๆ สำรวจตัวเองแล้วพบว่า การเล่นที่อวัยวะเพศ ทำให้เกิดความรู้สึกแปลก ๆ ที่มีความสุขไปอีกอย่างหนึ่ง ทำให้เด็กกลับไปเล่นซ้ำ ทำบ่อย ๆ เลยติด พวกเขาก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมพ่อแม่จึงดุ ว่า แถมตีด้วย ทั้ง ๆที่ จู๋นั้น ก็เป็นของส่วนตัวของพวกเขาแท้ ๆ
       ส่วนสาเหตุที่เด็กชอบเล่นอวัยวะเพศ มีดังนี้
     1.  เป็นช่วงวัยปกติตามพัฒนาการในช่วง 3 – 5 ปี
2.
มีผู้ใหญ่เน้นให้ความสำคัญที่บริเวณนี้เป็นพิเศษ เช่น เวลาอาบน้ำ หรือทำความสะอาด หรือพอเด็กเล่น ผู้ใหญ่คอยเตือน คอยดุ ก็เท่ากับให้ความสำคัญเช่นกัน
3.
เห็นแบบอย่างที่เร้าความรู้สึก
4.
ถูกล่วงเกินทางเพศ
5.
ถูกปล่อยให้อยู่คนเดียวนานเกินไป

      สำหรับวิธีการช่วยเหลือ ถ้าพบว่า ลูกหลานของเราเข้าข่ายมีพฤติกรรมชอบเล่นอวัยวะเพศ ให้ปฏิบัติดังนี้ค่ะ
1. เฝ้าสังเกตผู้ใหญ่รอบตัวว่าใครที่ละเมิดสิทธิ หรือล่วงเกิน หรือเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเพศ และกันเด็กให้ออกห่าง จากผู้ใหญ่คนนั้น
2.
ระมัดระวังมิให้เด็กรับรู้กิจกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร ในทุกรูปแบบ เช่น ทีวี วีดีโอ สภาพเหตุการณ์แวดล้อม
3. หยุดการทัก ตำหนิ หรือว่าเด็ก เมื่อเห็นเด็กเล่นอวัยวะเพศ แต่ชักชวน เบี่ยงเบนความสนใจ อย่าทิ้งไว้ให้อยู่คนเดียวนาน ๆ
4. ให้ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น ชวนเล่นให้สนุกจนลืมการเล่นตัวเอง ถึงเวลานอนก็หลับเร็วและหลับได้นาน