วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หนูจ๋า...ฟัง(แม่)ก่อน



ธรรมชาติของเด็กเล็กๆที่เริ่มพูด เขาก็จะพยายามออกเสียงอ้อแอ้และชอบให้คนใกล้ชิดพูดคุยด้วย เล่นด้วย และพอพูดได้คล่องแคล่วพูดได้มากขึ้นก็จะกลายเป็นว่าหนูพูดมากจัง(ในความรู้สึกของคนใกล้ชิด) แต่ครูเอขอบอกว่าคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลอย่าเพิ่งแสดงความรำคาญหรือเบื่อหน่ายให้เด็กๆหรือลูกรักเห็นนะคะ


ถึงแม้ว่าเด็กๆหรือลูกรักจะพูดในเรื่องที่ไร้สาระก็ตาม เรามีหน้าที่ที่จะต้อง ตั้งใจฟังและฟังอย่างเอาใจใส่ แสดงท่าทีตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกพูดอย่างตั้งใจให้ลูกเห็น และคอยตอบคำถามร้อยแปดพันเก้าให้ดี 

เพราะการที่เราแสดงอาการตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกพูดจะเป็นการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูกรัก ทำให้ลูกรักเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญและได้รับการดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่และคนรอบข้างอยู่เสมอ เป็นการสร้างความรักความอบอุ่น เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่ลูกและสมาชิกในครอบครัว
นอกจากนี้ยังเป็นการสอนให้ลูกรักรับรู้และเรียนรู้เกี่ยวกับมารยาทในการพูดและการฟังทางอ้อมอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในช่วงเช้าที่เนอสเซอรี่บ้านแม่พระอุปถัมภ์ ครูเอจะจัดกิจกรรมการเล่านิทาน/เรื่องราวต่างๆให้เด็กๆฟังทุกวันในขณะที่ครูเอกำลังเล่านิทานอยู่นั้น ถ้ามีเสียงเด็กคุยกันครูเอก็จะหยุดเล่าทันทีแล้วนั่งนิ่งๆ จากนั้นเสียงคุยของเด็กๆก็จะเบาลง เบาลงเรื่อยๆจนเงียบไม่มีเสียงเด็กคุยกัน ครูเอจึงจะเล่านิทานให้ฟังต่อ  ครูเอทำอย่างนี้บ่อยๆเด็กๆก็จะรับรู้และเรียนรู้ไปในตัวว่า ถ้าครูเล่านิทานหนูจะต้องตั้งใจฟัง แต่เมื่อไหร่ที่หนูพูดครูเอก็จะหยุดเล่าเพื่อตั้งใจฟังสิ่งที่หนูต้องการพูด/เล่าให้ฟัง (มารยาทของการเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี)
แต่บางครั้งวิธีการนี้ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลในครั้งแรก เพราะธรรมชาติของเด็กเล็กๆต้องใช้วิธีการบอก/สอนย้ำๆซ้ำๆก่อน โดยใช้เหตุผลว่าทำไมหนูต้องฟังครู/พ่อแม่พูด ทำไมจึงคุยกับเพื่อนในขณะที่ครูเอเล่านิทานไม่ได้ ทำไมครูเอต้องฟังหนูพูดด้วยเหมือนกัน และที่สำคัญนิทาน/เรื่องราวต้องเป็นเรื่องที่  เด็กๆชอบและสนใจด้วยนะคะ  

      
 นอกจากจะใช้วิธีการบอก/สอนด้วยเหตุผลแล้ว  การเลือกนิทานเพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกรัก ก็ต้องเลือกเรื่องที่ลูกรักชอบ สนใจ อาจจะเป็นเรื่องราวรอบๆตัว เรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ ฯลฯ พร้อมทั้งสอดแทรกคุณธรรมด้วยก็ดีมากๆนะคะ