วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ทำไม..ลูกถึงพูดช้า


           ครูเอคิดว่าอาจมีคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากที่มีความวิตกกังวลใจ ว่าทำไมลูกจึงไม่ยอมพูดนะ  
             แล้วลูกจะผิดปกติหรือไม่  แล้วจะทำอย่างไรดี ? 

     การที่ลูกพูดช้านั้น ครูเอขอแนะนำว่าก่อนอื่น คุณพ่อคุณแม่ต้องหาสาเหตุที่ลูกไม่ยอมพูดก่อน เช่น  ระบบการได้ยินของลูกปกติหรือไม่     หรือเป็นความบกพร่องเกี่ยวกับพัฒนาการด้านภาษาและการพูดของลูกรัก คือพัฒนาการด้านภาษาและการพูดไม่เป็นไปตามอายุ 
    
    ลูกรักไม่ค่อยเข้าใจคำพูดของผู้อื่น ทำให้ตอบสนองคำพูดของผู้อื่นไม่ถูก เริ่มพูดคำที่มีความหมายได้ล่าช้ากว่าเด็กอื่นๆ ซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน สื่อสารกับผู้อื่นด้วยคำพูดไม่ได้ หรือถ้าพูดได้ก็ไม่สามารถเล่าเรื่องต่อเนื่องกัน เด็กที่พูดล่าช้าจะรู้จักคำศัพท์ในวงจำกัดและเรียบเรียงถ้อยความได้ไม่ดี
       
      ทีมวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า คุณพ่อคุณแม่อาจจะเปรียบเทียบพัฒนาการทางภาษาและการพูดของลูกรักกับเด็กปกติซึ่งอยู่ในวัยเดียวกัน โดยใช้เกณฑ์ดังนี้(คลินิกเด็ก.คอม)  

       1.อายุเมื่อเริ่มพูด เด็กปกติเริ่มพูดเป็นคำที่มีความหมายได้เมื่ออายุระหว่าง 8 เดือน ถึง 18 เดือน เด็กที่เริ่มพูดช้ากว่าช่วงนี้อาจจะมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดช้า เด็กที่พูดล่าช้าซึ่งถือว่าผิดปกติคือเด็กที่อายุ 2 ปีแล้วยังพูดเป็นคำที่มีความหมายไม่ได้

       2.จำนวนคำศัพท์ที่เด็กรู้จัก เด็กปกติเข้าใจและพูดคำศัพท์ได้ไม่ถึง 10 คำเมื่ออายุ 1 ปี และเมื่ออายุ 2 ปีเด็กรู้จักคำศัพท์มากกว่า 100 คำ และเมื่ออายุ 4 ปีจะรู้คำศัพท์มากกว่า 1,000 คำ ดังนั้นจำนวนคำศัพท์ที่เด็กเข้าใจและพูดได้จึงเป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่าเด็กพูดล่าช้าหรือไม่

     3.ประเภทของคำศัพท์ที่เด็กรู้จัก เด็กปกติเข้าใจและรู้คำศัพท์ได้หลายประเภท ได้แก่ คำนามบอกชื่อคน สัตว์ สิ่งของ อวัยวะของร่างกาย ชื่อพืชผักผลไม้และอาหาร ชื่อสี คำที่บอกความรู้สึกสัมผัส สถานที่ เวลา ขนาด จำนวน ทิศทาง ระยะทาง กิริยาอาการ คำวิเศษณ์ คำบุพบท และคำสันธาน 

      เด็กปกติทั่วไปเรียนรู้คำนามได้ก่อนคำประเภทอื่น 
 คำนามที่เด็กเรียนรู้ในช่วงขวบปีแรกของชีวิต มีอัตราสูงกว่าคำประเภทอื่นๆ เป็นอัตราส่วนที่สูงขึ้น 
     ดังนั้นถ้าเด็กคนใดเข้าใจและพูดคำศัพท์ได้เฉพาะบางประเภท เช่น รู้จักแต่คำนามที่เกี่ยวกับสัตว์มากมายหลายชนิด ส่วนคำประเภทอื่นไม่รู้จัก แสดงว่าเด็กมีการพัฒนาคำศัพท์อยู่ในวงจำกัด 
     บ่งชี้ว่าเด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ล่าช้า ในการพิจารณาว่าเด็กคนใดพูดล่าช้าอย่างผิดปกติต้องพิจารณาถึงเกณฑ์ทั้ง 3 ประการนี้ร่วมกันด้วย 
 
    
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กพูดล่าช้านั้นอาจมาจากประสาทหูพิการมาแต่กำเนิด สมองพิการมาแต่กำเนิด ปัญญาอ่อน มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ ขาดการกระตุ้นทางภาษาและการพูดที่เหมาะสม หรือเด็กที่บกพร่องทางการได้ยินหรือสูญเสียก่อนมีภาษาพูด    

       
แนวทางการแก้ไข สิ่งแรกที่ควรทำต้องพาเด็กไปพบแพทย์และนักแก้ไขการพูด เพื่อการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการพูดล่าช้า การทราบสาเหตุทำให้สามารถให้ความช่วยเหลือและแก้ไขได้อย่างเหมาะสม 

      ในกรณีที่เด็กพูดล่าช้าจากประสาทหูพิการ บางรายอาจใช้เครื่องช่วยฟัง ส่วนเด็กที่พูดช้าทางสาเหตุอื่นควรได้รับการช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ ด้วยการกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ จากนักจิตวิทยาพัฒนาทางภาษาและการพูดจากนักแก้ไขการพูด 
      ในกรณีที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาบางชนิด เช่น เด็กสมองพิการ เด็กปัญญาอ่อน เด็กออทิสติก ก็ควรได้รับคำแนะนำให้พบแพทย์เฉพาะทาง และควรจะแนะนำพ่อแม่และผู้ปกครองให้ช่วยเหลือเด็กเมื่ออยู่บ้านด้วย

       
การแก้ไขด้านการพูดนั้นเน้นเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาและการพูด โดยเริ่มทำการช่วยเหลือโดยเร็ว ใช้หลักการเรียนรู้ และพัฒนาการทางการพูดของเด็กปกติเป็นแนวทาง พ่อแม่และผู้ใกล้ชิดกับเด็กต้องแสดงให้เด็กเห็นความสำคัญของการพูด เร้าให้เด็กสนใจคำพูด 

      ใช้กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับการพูด ได้แก่การกระตุ้นด้วยเครื่องเล่นที่มีเสียง การพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ให้เรียกชื่อสิ่งของที่คุ้นเคย ชื่ออวัยวะของร่างกาย ร้องเพลงกล่อมเด็ก ทำท่าประกอบเพลง เล่านิทานจากภาพ สอนร้องเพลงหรือท่องกลอนโคลงสำหรับเด็ก เล่นเกมที่ใช้คำพูด เช่น ยี่สิบคำถาม

       เด็กที่พูดล่าช้าต้องได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องและกระทำอย่างสม่ำเสมอ ควรเลือกกิจกรรมหลายอย่างในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ภาษาโดยไม่รู้ตัว ถ้าผู้เลี้ยงดูเด็กเลือกโอกาสให้เหมาะสมกับโอกาสและสถานการณ์ก็ใช้เป็นกิจกรรมในการสอนภาษาและการพูดได้เป็นอย่างดี นักแก้ไขการพูดจะช่วยให้คำแนะเกี่ยวกับกิจกรรมและวิธีปฏิบัติต่อในการกระตุ้นการพูด แต่บุคคลในครอบครัวจะต้องพยายามทำตามคำแนะนำอย่างสม่ำเสมอด้วยจึงจะได้ผลดี 

วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

หนูจ๋า...ฟัง(แม่)ก่อน



ธรรมชาติของเด็กเล็กๆที่เริ่มพูด เขาก็จะพยายามออกเสียงอ้อแอ้และชอบให้คนใกล้ชิดพูดคุยด้วย เล่นด้วย และพอพูดได้คล่องแคล่วพูดได้มากขึ้นก็จะกลายเป็นว่าหนูพูดมากจัง(ในความรู้สึกของคนใกล้ชิด) แต่ครูเอขอบอกว่าคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลอย่าเพิ่งแสดงความรำคาญหรือเบื่อหน่ายให้เด็กๆหรือลูกรักเห็นนะคะ


ถึงแม้ว่าเด็กๆหรือลูกรักจะพูดในเรื่องที่ไร้สาระก็ตาม เรามีหน้าที่ที่จะต้อง ตั้งใจฟังและฟังอย่างเอาใจใส่ แสดงท่าทีตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกพูดอย่างตั้งใจให้ลูกเห็น และคอยตอบคำถามร้อยแปดพันเก้าให้ดี 

เพราะการที่เราแสดงอาการตั้งใจฟังในสิ่งที่ลูกพูดจะเป็นการสร้างความมั่นใจในตัวเองให้กับลูกรัก ทำให้ลูกรักเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญและได้รับการดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่และคนรอบข้างอยู่เสมอ เป็นการสร้างความรักความอบอุ่น เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างพ่อแม่ลูกและสมาชิกในครอบครัว
นอกจากนี้ยังเป็นการสอนให้ลูกรักรับรู้และเรียนรู้เกี่ยวกับมารยาทในการพูดและการฟังทางอ้อมอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในช่วงเช้าที่เนอสเซอรี่บ้านแม่พระอุปถัมภ์ ครูเอจะจัดกิจกรรมการเล่านิทาน/เรื่องราวต่างๆให้เด็กๆฟังทุกวันในขณะที่ครูเอกำลังเล่านิทานอยู่นั้น ถ้ามีเสียงเด็กคุยกันครูเอก็จะหยุดเล่าทันทีแล้วนั่งนิ่งๆ จากนั้นเสียงคุยของเด็กๆก็จะเบาลง เบาลงเรื่อยๆจนเงียบไม่มีเสียงเด็กคุยกัน ครูเอจึงจะเล่านิทานให้ฟังต่อ  ครูเอทำอย่างนี้บ่อยๆเด็กๆก็จะรับรู้และเรียนรู้ไปในตัวว่า ถ้าครูเล่านิทานหนูจะต้องตั้งใจฟัง แต่เมื่อไหร่ที่หนูพูดครูเอก็จะหยุดเล่าเพื่อตั้งใจฟังสิ่งที่หนูต้องการพูด/เล่าให้ฟัง (มารยาทของการเป็นผู้พูดและผู้ฟังที่ดี)
แต่บางครั้งวิธีการนี้ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลในครั้งแรก เพราะธรรมชาติของเด็กเล็กๆต้องใช้วิธีการบอก/สอนย้ำๆซ้ำๆก่อน โดยใช้เหตุผลว่าทำไมหนูต้องฟังครู/พ่อแม่พูด ทำไมจึงคุยกับเพื่อนในขณะที่ครูเอเล่านิทานไม่ได้ ทำไมครูเอต้องฟังหนูพูดด้วยเหมือนกัน และที่สำคัญนิทาน/เรื่องราวต้องเป็นเรื่องที่  เด็กๆชอบและสนใจด้วยนะคะ  

      
 นอกจากจะใช้วิธีการบอก/สอนด้วยเหตุผลแล้ว  การเลือกนิทานเพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ของลูกรัก ก็ต้องเลือกเรื่องที่ลูกรักชอบ สนใจ อาจจะเป็นเรื่องราวรอบๆตัว เรื่องราวเกี่ยวกับสัตว์ ฯลฯ พร้อมทั้งสอดแทรกคุณธรรมด้วยก็ดีมากๆนะคะ











วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

เมื่อพี่อิจฉาน้อง

              เดือนนี้ ครูเอขอแนะนำวิธีการป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมเด็กๆที่กำลังจะเป็นพี่ หรือที่กำลังมีน้องตัวเล็กๆอยู่นะคะ


             ก่อนอื่นนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่า การที่พี่อิจฉาน้องนั้นเป็นเรื่องปกติค่ะ โดยเฉพาะในพี่คนโต ที่มีอายุ 1-3 ปี เพราะเขาเคยเป็นหนึ่งมาตลอด เคยได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ตลอดเวลา แต่อยู่ๆ เมื่อมีน้องใหม่ คุณพ่อคุณแม่ต้องแบ่งเวลาให้น้องคนเล็ก ทำให้ความสนใจที่เขาเคยได้จากคุณพ่อคุณแม่ลดลง เขาจึงพยายามที่จะเรียกร้องความสนใจ ต้องการให้กอด ให้อุ้มมากขึ้น

              บางครั้งก็จะแสดงพฤติกรรมถดถอยเช่น ฉี่ หรืออึราด โดยไม่ยอมบอก, ดูดนิ้ว, กลับไปดูดขวดนมอีก หลังจากที่เคยเลิกขวดนมได้แล้ว หรือ อาจจะก้าวร้าวเพิ่มขึ้น เช่น แกล้งน้อง ชอบจับน้องแรงๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ ถือเป็นเรื่องปกติ และสามารถป้องกันได้ บางพฤติกรรมก็จะดีขึ้นเองใน 2-3 เดือนค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่จะต้องหาเวลาพูดคุยกับเขาทุกวันเพื่อให้เกิดการรับรู้และไว้วางใจ เช่น หนูกำลังจะมีน้องนะคะ...ตอนนี้น้องอยู่ในท้องแม่เหมือนที่หนูเคยอยู่และให้เขาได้จับหน้าท้องขณะที่น้องดิ้น ให้นอนกอดน้อง(กอดท้องคุณแม่),หอมน้อง,พูดแต่เรื่องดีๆเกี่ยวกับการที่เขาจะมีน้องหรือสมาชิกในครอบครัวเพิ่มอีกคน...สร้างความรู้สึกที่ดีให้พี่มีต่อน้อง ให้พี่รู้สึกมีส่วนร่วมในการจัดเตรียมของเล่น และของใช้ของน้อง ,ให้เขาได้พูดคุยหรือเล่านิทานให้น้องฟัง

              ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่หรือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดไม่ควรพูดในเรื่องที่อาจจะกระทบจิตใจของเขา เช่น ไม่รักหนูแล้วรักน้องดีกว่า ,เดี๋ยวก็กลายเป็นหมาหัวเน่าแล้ว,เดี๋ยวมีน้องเขาก็ไปรักน้องกันหมดแล้ว ซึ่งจะทำให้เขาเกิดความรู้สึก ไม่ชอบน้อง ไม่รักน้อง เพราะน้องเป็นสาเหตุให้เขาถูกดุ หรือไม่มีคนรัก

               เมื่อคุณแม่คลอดน้องแล้วก็ควรให้เขาได้มีส่วนร่วมหรือเป็นผู้ช่วยของคุณแม่ในการดูแลน้อง เช่น ช่วยหยิบขวดนม หรือช่วยนำผ้าอ้อมไปไว้ที่ถังทิ้งผ้าอ้อม ทาแป้ง ใส่เสื้อผ้า ได้อุ้ม ได้จับน้อง ฯลฯพร้อมทั้งชื่นชมว่าหนูเป็นพี่ที่ดีมาก.... เก่งมาก.... แม่รักหนูกับน้องที่สุดเลย.... น้องก็รักหนูด้วย น้องยิ้มให้หนูด้วย หนูเป็นพี่ที่เก่ง ช่วยดูแลน้องได้ เมื่อน้องโตขึ้นก็จะเป็นเพื่อนเล่นกับหนูและจะเป็นพี่น้องที่คอยช่วยเหลือกัน ฯลฯ

                  แต่ก็ไม่ควรปล่อยพี่คนโตไว้กับน้องตามลำพังเป็นอันขาดนะคะ เพราะความตื่นเต้น สนใจ อยากรู้ อยากเห็นอาจทำให้เกิดอันตรายกับน้องได้ โดยที่เขาไม่ได้มีเจตนาจะทำร้ายน้อง

                 คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้ความอดทนและควบคุมอารมณ์ ต่อพฤติกรรมอิจฉาน้องของผู้เป็นพี่ที่แสดงออก ไม่ควรดุ ว่ากล่าวรุนแรงหรือทำโทษด้วยการตีเมื่อเขาไม่เชื่อฟัง ดื้อรั้นไม่มีเหตุผล แต่ต้องค่อยๆพูดคุยเมื่อเด็กสงบลงก็ใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่นแทนค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ฝึกขับถ่ายให้ลูกอย่างไรดี

เดือนนี้ขอนำวิธีการฝึกเรื่องการขับถ่ายของลูก มาแบ่งปันให้คุณพ่อคุณแม่หลายท่านที่อาจจะกำลังเป็นกังวลในเรื่องนี้อยู่  และหงุดหงิดเมื่อลูกรักขับถ่ายเลอะเทอะ  เพราะยังควบคุมการขับถ่ายและใช้ห้องน้ำหรือสุขภัณฑ์ไม่ได้  ซึ่งการสอนหรือฝึกนั้น เป็นเรื่องที่ต้องการเวลา ต้องทำความเข้าใจและใช้ความอดทนนะคะ       
ที่เนอสเซอรี่บ้านแม่พระอุปถัมภ์  ครูผู้ดูแลเด็กจะเริ่มฝึกเรื่องการขับถ่ายของเด็ก ตอนอายุประมาณ 1-2 ปี ซึ่งเด็กจะพูดหรือทำสีหน้าท่าทางสื่อให้รู้ว่าต้องการขับถ่าย  เมื่อเด็กแสดงสีหน้า ท่าทาง หรือบอกว่าอยากจะขับถ่าย ให้คอยสังเกตและชวนเด็กเข้าห้องน้ำ ให้เวลาแก่เด็กอย่างสบายๆ ไม่เร่งหรือบังคับให้เด็กต้องทำให้ได้อย่างที่ต้องการ  และให้คำชมเชยหรือให้แรงเสริมทางบวกเมื่อเด็กทำได้  
ในช่วงแรกๆของการฝึกขับถ่าย ครูจะให้เด็กใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเพื่อป้องกันการเลอะเทอะ เพราะเด็กอาจบอกไม่ทันในช่วงแรกๆของการฝึก จึงไม่ควรที่จะดุเด็ก ควรใจเย็นและสอนให้เด็กบอกก่อนที่จะทำเลอะ  และคอยสังเกตท่าทางของเด็กว่าอยากถ่ายหรือไม่  แล้วจึงชวนไปเข้าห้องน้ำก่อนที่จะถ่ายเลอะเทอะ และที่สำคัญคือต้องคอยเรียกเด็กเข้าห้องน้ำเป็นเวลา เช่นก่อน/หลังดื่มนม  ก่อนรับประทานอาหารกลางวันและก่อนนอนหลับพักผ่อน หรือเมื่อเด็กตื่นนอน และควรเลือกโถชักโครกที่เหมาะกับตัวเด็ก เพื่อที่เด็กจะนั่งได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย 
การฝึกเรื่องการขับถ่ายต้องค่อยเป็นค่อยไป   อดทน ไม่บังคับ  ถ้าเด็กกลัว ขัดขืน ต่อต้าน  ต้องไม่ต่อว่าลงโทษหรือบังคับเด็ก  แต่ควรผ่อนปรน  ให้เวลาเด็กปรับตัว   แล้วฝึกใหม่ในภายหลังเมื่อเด็กมีความพร้อมมากขึ้นค่ะ      และการฝึกเรื่องการขับถ่ายของเด็กจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหน   ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานการเลี้ยงดู         และการให้ความร่วมมือในการร่วมกันฝึกของคุณพ่อคุณแม่ด้วยนะคะ ถ้าเด็กได้รับการเลี้ยงดูแบบใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปตลอดเวลา   และเด็กไม่ได้รับการฝึกอย่างต่อเนื่องทั้ง   ที่เนอสเซอรีฯและที่บ้าน ก็อาจจะใช้เวลาในการฝึกมากหน่อยนะคะ

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ส่งเสริมลูกน้อยให้รักการอ่าน

                การส่งเสริมให้ลูกมีพฤติกรรมรักการอ่านตั้งแต่ยังเด็ก สามารถช่วยให้ลูกกลายเป็นนักอ่านและรักการอ่านในอนาคตได้ค่ะ 
               น้ำเสียงที่คุณแม่เล่าและเรื่องราวจากหนังสือหรือนิทานนั้นๆ จะช่วยให้ลูกได้ฝึกทักษะการจำ โดยพวกเขาจะจำสิ่งต่างๆ ในหนังสือ และให้ความสนใจในเสียงต่างๆ ในโลกภายนอกว่าเป็นเหมือนนิทานที่คุณอ่านให้ฟังหรือไม่ค่ะ
                นอกจากนี้ เด็กๆยังอยากใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่เวลาฟังนิทานด้วย เด็กวัยนี้จะมีความรู้สึก 2 แบบ โดยพวกเขาจะให้ความใส่ใจในหนังสือที่ถูกอ่านโดยผู้ใหญ่ที่ให้ความสนใจเขา แต่อีกไม่นาน พวกเขาจะเริ่มให้ความสนใจในหนังสือด้วยตัวเขาเอง และจะขอให้คุณพ่อคุณแม่อ่านให้พวกเขาฟังหรืออาจจะลองอ่านให้ของเล่น เช่น ตุ๊กตาหรือหุ่นยนต์ของพวกเขาฟัง
                 แม้ว่าพวกเด็กๆอาจจะใช้ภาษาแบบเด็กๆ หรือทำท่าทางเลียนแบบเหมือนตอนที่คุณแม่เล่าให้ฟัง แต่เขาก็เชื่อว่านั่นคือการอ่านนั่นเอง   คุณแม่อาจช่วยลูกด้านการอ่านออกเสียงตัวอักษรและคำต่างๆ เพื่อให้เขาฝึกออกเสียงไปในตัว จากการวิจัยพบว่า  ลูกจะเรียนรู้การอ่านตามธรรมชาติของเขาจากสิ่งที่คุณแม่หรือคุณพ่อเล่าหรืออ่านให้ฟัง 
                คำถามที่น่าสนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ว่าสามารถช่วยส่งเสริมพัฒนาทักษะการอ่านให้ลูกได้อย่างไรบ้าง เรามีข้อเสนอให้ลองพิจารณาค่ะ
                ประการแรก  แบ่งหนังสือกับลูก      การอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่วัยเด็กสามารถช่วยส่งเสริมทักษะการอ่านและการรับรู้ที่พวกเขาต้องการได้ พยายามหาเวลาว่างทุกวันเพื่ออ่านหนังสือให้ลูกฟัง เหมือนว่าเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ลูกจะได้มีส่วนร่วมกับคนในครอบครัว และอย่ากังวลหากลูกจะมีความสนใจเพียงระยะสั้น ลองให้เขาจับหนังสือ เปิดดูหน้าต่างๆ  ด้วยตัวเอง ให้ลูกรู้สึกถึงเรื่องราว สี และรูปทรง ในหนังสือ ซึ่งสิ่งที่เขาสนใจจะบอกคุณได้ว่าครั้งต่อไปคุณควรเล่าหรือเรียกความสนใจจากเขาได้ด้วยสิ่งใดบ้าง  
         ประการที่สอง หนังสือภาพ เลือกหนังสือที่มีภาพประกอบ หรือเป็นหนังสือที่มีรูปทรงต่างๆ เมื่อเปิดมาในแต่ละหน้าเป็นแบบป๊อบอัพ สำหรับลูกวัย 3-5 ปี จะช่วยเรียกความสนใจในการเล่าเรื่องได้มากขึ้น  และพยายามไม่พูดเกริ่นนำเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพเหล่านั้น แต่ทำให้ลูกรู้สึกจดจ่อว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อ หลังจากเรื่องราวในภาพเพื่อให้ลูกคิดตาม
                นอกจากนี้ ลองพูดถึงตัวละครต่างๆ ในหนังสือ และสร้างสถานการณ์ว่าสิ่งต่างๆ หรือบุคคลในหนังสือนั้น มีความเกี่ยวข้องกับเราในชีวิตจริงได้อย่างไรบ้าง การเล่าเรื่องแบบมีที่มาที่ไปและใส่ความคิดเห็น เพิ่มเติมเพื่อให้ลูกเห็นภาพมากขึ้น จะช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานความเข้าใจและช่วยกระตุ้นทักษะการอ่าน จินตนาการ การทำความเข้าใจ รวมถึงภาษาที่ใช้ด้วย
                ประการที่ สาม การพูดคุยกับลูกๆ   การฟัง ดู พูด อ่าน เขียน ถือเป็นสะพานหลักในการเชื่อมต่อทักษะการอ่านของเด็กทุกวัย ก่อนที่เด็กจะอ่านหนังสือได้ด้วยตัวเอง พวกเขาต้องรู้จักการออกเสียง คำต่างๆ ความหมายต่างๆ รวมถึงความสัมพันธ์ของภาษาก่อน ยิ่งรู้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งง่ายขึ้นต่อการเชื่อมโยงความรู้ในการใช้ภาษาพูดให้เข้ากับภาษาเขียนมากขึ้นเท่านั้น การพูด ไม่ได้ต้องการเวลาพิเศษหรืออุปกรณ์ใดๆ ทำให้คุณสามารถเสริมสร้างทักษะนี้ให้กับลูกได้ทุกที่และทุกเวลาค่ะ
                    นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจลองสอนวิธีอ่านหนังสือที่หลากหลายด้วยวิธีการที่แตกต่าง เช่น เล่นเกมส์หาหนังสือ กิจกรรมแต่งกายตามตัวละครในหนังสือ ทำอาหารที่ตัวละครในหนังสือชอบ หรือแม้กระทั่งการวาดภาพตามสถานการณ์ เป็นต้นจังหวะและคำคล้องจองในบทกวีที่คุณแม่อ่านให้ฟังทุกๆ บ้าน ควรจะมีหนังสือบทกลอนสำหรับเด็กดีๆ ไว้สักเล่ม อาจจะเป็นบทกลอน บทเพลง บทกวี ที่ลูกๆ สามารถอ่าน เล่น และร่วมสนุกกับคุณพ่อคุณแม่ได้ จะช่วยพัฒนาคลังภาษาในสมอง อารมณ์และจินตนาการของเด็กได้มากทีเดียว   
                  สังเกตได้ว่าเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป จะเริ่มออกเสียง และแสดงท่าทางที่สอดคล้องกับเสียง และคำคล้องจองในบทกวีที่คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟังค่ะ


วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

7 วิธีบอกรักลูกในวันวาเลนไทน์ (และทุกวัน)


ฉบับนี้ขอแบ่งปันเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เพื่อบอกให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รักและเอาใจใส่ลูกมากแค่ไหน ในเดือนแห่งความรักนี้

1.พูดชมเชยลูกรักในแง่บวก เพื่อให้ลูกรู้สึกเชื่อมั่นและภูมิใจในตัวเอง เช่น กล่าวชมเมื่อลูกทำงานที่ได้รับมอบหมายเสร็จเรียบร้อยในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนั้น คุณแม่ควรตั้งอกตั้งใจฟังเรื่องราวต่างๆที่ลูกเล่าให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่โรงเรียน หรือเรื่องราวการ์ตูนที่ลูกชอบดู
2. ตอบสนองลูกทั้งด้านอารมณ์และการแสดงออก เช่น การกอดหอมลูกยามที่ลูกต้องการอ้อมกอดจากคุณพ่อคุณแม่ ไม่ใช้อารมณ์กับลูกแม้ว่าคุณกำลังหงุดหงิด หรือมีธุระยุ่ง

3.ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ทั้งในบ้านและนอกบ้าน พูดจาไพเราะ ไม่ลืมที่จะกล่าวขอบคุณเมื่อมีผู้ทำสิ่งใดให้ เอ่ยปากขอโทษเมื่อทำพลาดพลั้ง และเมื่อจะไหว้วานใคร ก็พูดขอร้องอย่างสุภาพ ลูกจะยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดี

4.กอดและปลอบประโลมลูก ยามลูกอยู่ในอารมณ์โกรธขึ้ง หรือขุ่นข้องหมองใจ
5.ใช้เวลาอยู่กับลูกวัยรุ่นตามลำพัง เพื่อทำกิจกรรมที่ลูกชอบด้วยกัน

6.ชวนลูกทำอาหารด้วยกัน เพื่อส่งเสริมให้ลูกรู้จักรับประทานอาหารที่สะอาด มีคุณภาพ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเริ่มตั้งแต่ชวนลูกคิดรายการอาหาร ออกไปซื้อหาเครื่องปรุง และทำอาหารด้วยกัน แล้วยกอาหารมานั่งรับประทานร่วมกัน

7.บอกรักลูกทุกวันไม่ว่าลูกจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม
                                                                                            
7 เรื่องง่ายๆ แค่นี้เอง...ทำได้ทุกวันอยู่แล้ว จริงไหมคะ
                                                                                                                
                                                                            ที่มา : Thaiparents.com