วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บำรุงสมองด้วยสองมือแม่

วันนี้คุณครูเอ
(ครูเบญจวรรณ ใจสุข)
มี 8 เคล็ด(ไม่) ลับ
“วิธีเลี้ยงดูสมองลูกรัก”
มาฝากค่ะ


1. การให้ความรักความอบอุ่น การดูแลและเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความอบอุ่น นอกจากจะทำให้ลูกรักรู้สึกมั่นคงต่อความรักของพ่อแม่มีให้แล้ว ลูกก็จะเติบโตและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์เต็มศักยภาพ

2. สัมผัสสม่ำเสมอด้วยความรัก การนวดหรือนวดทารกด้วยความอ่อนโยนอย่างน้อย 3 ครั้งต่อวัน ครั้งละ 15 นาที จะช่วยให้น้ำหนักตัวของทารกปกติสมวัย ทำให้ทารกกระปรี้กระเปร่า ตื่นตัวและร้องไห้น้อยลง ที่สำคัญการอุ้มแบบแนบชิดให้ลูกแนบอยู่กับอกหัวใจแม่ จะช่วยให้ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีสุขภาพแข็งแรงเร็วขึ้น

3. ใส่ใจฟังและพูดคุยกับลูก การพูดคุยหรือปฏิบัติซ้ำๆ เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นต้องพูดคุยกับลูกแม่ลูกจะโต้ตอบกันด้วยการส่งเสียงอือ อา แบบทารกก็ตาม ไม่ว่าจะทำอะไร ควรเอ่ยชื่อการกระทำและชื่อสิ่งนั้นเสมอ พร้อมกับชี้หรือหยิบให้ลูกเห็นสิ่งที่พูดหรือการกระทำนั้นๆ ด้วยทุกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้ลูกพัฒนาและเรียนรู้เรื่องภาษา และการพูดสื่อสารสื่อความหมายได้เร็วขึ้น

4. ทำให้ทุกเวลาเป็นการเรียนรู้แสนสนุกของลูก เพราะลูกรักเติบโตและเรียนรู้ทุกเวลานาที เช่น เวลาแต่งตัวให้ลูกก็พูดคุยกับลูกไปด้วยว่านี่คือเสื้อสีแดง กางเกงสีขาวเป็นต้น แต่ให้เป็นการเรียนรู้แบบธรรมชาติไม่ใช่การบังคับขู่เข็ญให้ลูกสนใจ

5. ทักษะคณิตศาสตร์สัมพันธ์กับดนตรี เพราะสมองบริเวณที่รับรู้เรื่องดนตรีนั้นเป็นบริเวณเดียวกับที่เรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์และมิติสัมพันธ์ด้วย ดังนั้นการฟังดนตรีจึงช่วยพัฒนาทักษะด้านคณิตศาสตร์และมิติสัมพันธ์ของลูก นั่นเอง

6. อารมณ์เกี่ยวข้องกับความเครียดและการผักผ่อน ระบบสมองส่วนลิมบิกจะทำหน้าที่ดูแลการแสดงออกของอารมณ์และช่วยให้เราตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ เช่น วิ่ง กระโดด ร้องไห้ เป็นต้น ถ้าลูกรักถูกละเลยและมีความทุกข์จะมีปัญหาในการเรียนและมีความประพฤติที่ไม่ดีในภายหลังได้

7. การออกกำลังกาย ลูกรักต้องการออกกำลังกายในทุกส่วนของร่างกายไม่ว่าจะมีขนาดเล็ก เช่น นิ้ว ส้นเท้า เป็นต้นและอวัยวะขนาดใหญ่ที่ต้องใช้แรงและกำลัง เช่น ขาเป็นต้น ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้เด็กๆได้เล่น ได้ทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายมากๆ ตามความเหมาะสม

8. พ่อแม่คือกระจกสะท้อนลูก ลูกรักจะซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่ / ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้าง ถ้าพ่อแม่เสียงดังลูกก็จะเสียงดังด้วย ถ้าพ่อแม่สัมผัสลูกด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวล ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะประพฤติปฏิบัติต่อคนอื่นด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวลเช่นกัน ฯลฯ ดังนั้น พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ต้องตระหนักว่าทุกๆการกระทำของเรา ทั้งดีและไม่ดี ลูกจะดูเป็นแบบอย่างและประพฤติปฏิบัติตาม