วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2552

กิจกรรมศิลปะ...สำคัญกับลูกน้อยอย่างไร

กิจกรรมศิลปะ…สำคัญกับลูกน้อยอย่างไร

คุณพ่อคุณแม่หรือท่านผู้ปกครองทราบไหมคะว่า กิจกรรมศิลปะสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สร้างจินตนาการและช่วยให้เด็กมีลักษณะอ่อนโยน
เด็กวัย 2 – 4 ปี เป็นวัยแห่งการขีดเขี่ย โดยเริ่มจากการขีดเขี่ยแบบไม่มีทิศทาง ไร้การควบคุมแต่ถ้าเด็กได้ทำซ้ำบ่อยๆก็จะสามารถควบคุมกล้ามเนื้อมือได้และถ่ายทอดความรู้สึกภายในออกมา การให้เด็กได้จับสีและดินสอทันทีที่เด็กใช้นิ้วทั้ง 5 ได้ เด็กๆจะสามารถเขียนหนังสือและใช้มือทำงานต่างๆได้อย่างคล่องแคล่วกว่าเด็กที่เริ่มจับดินสอเมื่อเข้าเรียนอนุบาลนะคะ
การใช้วัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลาย เช่น สีเทียน สีน้ำ ดินน้ำมัน กระดาษ ลูกแก้ว กาว ฯลฯ จะกระตุ้นการเรียนรู้ด้านศิลปะ เรียนรู้ความเหมือนความแตกต่างของวัสดุและสีสันต่างๆได้เป็นอย่างดีค่ะ
การจัดกิจกรรมให้เด็กสนุกสนานกับการทำกิจกรรมศิลปะ เช่น การวาดภาพระบายสี การปั้น การพิมพ์ภาพ การพับ การฉีก การตัดปะกระดาษและงานประดิษฐ์เศษวัสดุ ฯลฯ เด็กจะรู้จักการสร้างสรรค์และดัดแปลงชิ้นงานของตนเอง ฝึกการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน ฝึกสมาธิ รู้จักการปรับตัว การแบ่งปันและการรอคอยในการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความรับผิดชอบด้วยนะคะ
ในการทำงานศิลปะครูหรือคุณพ่อคุณแม่อาจจะคอยให้ความช่วยเหลือบ้างเป็นบางครั้ง แต่การทำงานศิลปะแต่ละครั้งควรจะทำข้อตกลงกันก่อน เช่น ไม่เขียนข้างฝา ไม่เอาสี /ลูกแก้ว ใส่ปาก ทำเสร็จแล้วต้องเก็บของเข้าที่ให้เรียบร้อยอย่างนี้ก็จะเป็นการฝึกและปลูกฝังให้ลูกมีวินัยในตนเองด้วยนะคะ
ที่สำคัญคือในการทำงานศิลปะแต่ละครั้งควรอยู่ในความดูแลของครู / คุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดจากการทำกิจกรรมค่ะ

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ข้อสรุปที่สำคัญเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย

ข้อสรุปที่สำคัญ (ความรู้จากอินเตอร์เน็ต)

  1. การเล่นของเด็กปฐมวัย
    · การเล่นสามารถทำให้เด็กใช้สัญลักษณ์แทนความรู้สึกต่อโลกของเขาในรูปแบบที่หลากหลาย
    · การเล่นส่งเสริมการคิดให้รู้จักคิดยืดหยุ่น และคิดสร้างสรรค์
    · การเล่นช่วยให้เด็กสร้างความรู้จากเรื่องราวต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ในชีวิต
    · การเล่นสนับสนุนความสามารถทางภาษาและสังคม
    · การเล่นช่วยให้เด็กมีปฏิบัติการได้เหนือระดับปกติ เพราะไม่มีกรอบแห่งความเป็นจริงมาบังคับกระบวนการการเรียนรู้ เด็กสามารถจะนำความรู้ทั้งหมดมาจินตนาการเพิ่มเติม ตัดต่อจนเป็นความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ และแสดงออกมาในการเล่นได้
    · ขณะเล่น สมองเรียนรู้โดยใช้อารมณ์อันพึงพอใจเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนั้น การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสมองผ่านการเล่น จึงเป็นการรู้ที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นวงจรที่มีพลัง

    กระบวนการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
    · เด็กปฐมวัยเรียนรู้จากสัมพันธภาพของเขากับครอบครัว ถัดไปคือ เพื่อนบ้าน โรงเรียน และสังคม
    · เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว และด้วยกระบวนการอันซับซ้อน
    · เด็กปฐมวัยเรียนรู้จากความรู้สึกผูกพันแบบตัวต่อตัวก่อน แล้วเคลื่อนไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันภายหลัง
    · การเรียนรู้ถูกกระตุ้นโดยความอยากรู้อยากเห็น จินตนาการ และการสร้างสรรค์
    · การเรียนรู้มาจากสถานการณ์ที่เป็นจริง ในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ได้เริ่มต้นจากนามธรรม คำศัพท์ หรือนิยาม
    · ผลจากการเรียนรู้ของสมอง เด็กแต่ละคนปรากฏตัวออกมาไม่เหมือนกัน แล้วแต่ความสนใจว่าเด็กจะแสดงความรู้ออกมาผ่านพฤติกรรมแบบไหน
    · เด็กเรียนรู้ผ่านกิจกรรมทางร่างกาย และพัฒนาสมรรถภาพได้หลากหลาย ซับซ้อน
    · เด็กชอบที่จะเรียนรู้จากการทำซ้ำๆ และเพลิดเพลินจากการทำซ้ำๆ ขณะเดียวกันสมองจะจัดการรวบรวมทักษะต่างๆ เข้าด้วยกัน กลายเป็นองค์รวมแห่งพัฒนาการ
    · เด็กสืบค้นและสำรวจสิ่งรอบตัวของเขาผ่านการเล่น ด้วยเหตุนี้สภาพแวดล้อมจึงมีบทบาทสำคัญ

2. พัฒนาการแห่งการเรียนรู้
· การวางเป้าหมายของหลักสูตรเกิดจากหลักการต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้นเป็นพื้นฐาน ถัดไปคือโลกและสังคมแห่งการเรียนรู้อันจำเป็นที่ต้องถักทอขึ้นมา เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ประจำวันสำหรับเด็กปฐมวัย โดยแยกออกเป็นพัฒนาการด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้
· พัฒนาการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว
· พัฒนาการทางอารมณ์และจิตใจ
· พัฒนาการด้านการคิด
· พัฒนาการด้านศิลปะและการสร้างสรรค์
· พัฒนาการด้านภาษา


3. เป้าหมายแห่งพัฒนาการ
· ร่างกายเจริญเติบโตตามวัย แข็งแรง มีสุขนิสัยที่ดี
· พัฒนาการกล้ามเนื้อใหญ่และเล็กแข็งแรงดี ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

· พัฒนาการทางอารมณ์เหมาะกับวัย มีสุขภาพจิตดี รู้เหมาะรู้ควรตามวัย
· มีความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ใช้ภาษาแม่ได้อย่างดี และเริ่มใช้ภาษาอังกฤษในการฟัง พูดอ่าน เขียนได้อย่างง่ายๆ ได้
· มีสุนทรียภาพ ชื่นชมต่อศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว และการออกกำลังกาย
· ช่วยเหลือตนเองได้ อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
· มีความใส่ใจในธรรมชาติ รู้จักใช้ความคิดและมีนิสัยใฝ่หาคำตอบ
· รู้จักและดำเนินชีวิตอย่างมีวัฒนธรรมเหมาะสมกับวัย
· มีพัฒนาการด้านการคิด ใช้เหตุผล แก้ปัญหาได้ มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ มีคุณธรรม และจิตใจดีงาม
· มีความกระหายใคร่รู้ รักการเรียนรู้